แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งในคำร้องขอให้รับฎีกาว่า คดีสมควรสู่การพิจารณาของศาลสูงอนุญาตให้ฎีกา ดังนี้ ไม่เป็นคำอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.ว.อ. ม.221
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำคุกคนละ 8 เดือน และมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 จำคุกคนละ 1 เดือน รวมจำคุกคนละ 9 เดือน คำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน ให้จำเลยทั้งสองรวมกันชดใช้เงิน63,600 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ คำขออื่นให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน จำเลยที่ 1 จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 เว้นแต่จะมีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218, 219 และ 220 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป” คดีนี้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาสั่งในคำร้องขอให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 “พิเคราะห์แล้ว คดีสมควรสู่การพิจารณาของศาลสูงอนุญาตให้ฎีกา” ศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมิได้แสดงว่ามีข้อความใดที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยและอนุญาตให้ฎีกา จึงถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาผู้นั้นได้อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่นำผู้เสียหายมาเบิกความรับรองยืนยันเอกสารที่โจทก์นำส่งประกอบการพิจารณา พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้นั้นเห็นว่าเป็นการโต้เถียงว่า ศาลควรใช้ดุลพินิจเชื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาสืบแล้วเพียงใด เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1