แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510มาตรา73(3)กำหนดถึงการได้รับประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่นั้นไม่ทำให้ผู้นั้นได้สิทธิครอบครองที่ดินที่อยู่ในเขตประทานบัตรด้วยแต่หากมีผู้เข้าไปขัดขวางการทำแร่ในเขตประทานบัตรโดยไม่มีอำนาจโดยชอบแล้วผู้ได้รับประทานบัตรก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้นั้นได้แต่เมื่อสิ้นอายุประทานบัตรแล้วมิให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองผู้ถือประทานบัตรจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ใดให้ออกจากที่ดินในเขตประทานบัตรได้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่7ถึงที่12หลังจากที่ประทานบัตรสิ้นอายุอันมีผลทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิใดๆในที่พิพาทแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่7ถึงที่12ส่วนจำเลยที่1ถึงที่6โจทก์ยื่นฟ้องก่อนที่จะสิ้นอายุประทานบัตร3วันแต่เมื่อได้ความว่าในระหว่างพิจารณาประทานบัตรของโจทก์สิ้นอายุแล้วและโจทก์มิได้ดำเนินการขอต่ออายุประทานบัตรหรือขอประทานบัตรใหม่โจทก์จึงไม่มีสิทธิใดๆในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตประทานบัตรอีกต่อไปการโต้แย้งสิทธิของโจทก์จึงสิ้นสุดลงโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่1ถึงที่6 พระราชบัญญัติแร่ฯมาตรา72กำหนดว่าแม้ประทานบัตรสิ้นอายุแล้วผู้ถือประทานบัตรก็ต้องมีหน้าที่กลบถมขุมเหมืองหรือทำที่ดินให้เป็นตามสภาพเดิมแต่ถ้าหากประทานบัตรได้กำหนดไว้เป็นประการอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้วหรือทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ในเขตประทานบัตรตั้งอยู่ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ต้องดำเนินการไปตามนั้นเมื่อตามประทานบัตรที่พิพาทมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการถมขุมหลุมหรือปล่องที่ไม่ได้ใช้ในการทำเหมืองไว้ว่าให้ปฏิบัติตามคำสั่งของทรัพยากรธรณีประจำท้องที่และไม่ปรากฎตามคำฟ้องว่าทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ได้มีคำสั่งให้โจทก์ผู้ถือประทานบัตรดำเนินการเป็นประการใดแล้วโจทก์จึงยังไม่มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการกลบถมขุมเหมืองแต่อย่างใดทั้งตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสิบสองได้เข้าทำการขัดขวางโจทก์อันจะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ยังไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาทและยังไม่ได้เตรียมการเพื่อเข้าไปทำเหมืองแร่ตามที่ประทานบัตรอนุญาตและกำหนดเงื่อนไขไว้ ทั้งไม่ปรากฎว่ามีคำสั่งจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ให้โจทก์จัดการถมหรือทำที่ดินซึ่งอยู่ในเขตประทานบัตรให้เป็นตามเดิมความเสียหายของโจทก์จึงยังไม่เกิดขึ้นถือว่าโจทก์ไม่เสียหาย
ย่อยาว
คดีทั้งสิบสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกจำเลยตามลำดับสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 12
โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องในสำนวนแรกมีใจความว่าโจทก์เป็นผู้ถือสิทธิทำเหมืองแร่ ตามประทานบัตรที่ 9542/13760เนื้อที่ 283 ไร่ 2 งาน 39 ตารางวา ที่ตำบลบางริ้นอำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ตั้งแต่โจทก์ได้รับประทานบัตรการทำแร่ดังกล่าวมา โจทก์ได้ครอบครองดูแลที่ดินในเขตประทานบัตรและเสียค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ในการทำเหมืองแร่ทุกปีติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน บัดนี้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ประทานบัตรที่ยังไม่เคยผ่านการทำเหมืองและไม่สามารถกลบขุมเหมืองและหลุมที่ไม่ได้ใช้ในการทำเหมืองเนื่องจากจำเลยทั้งสิบสองบุกรุกเข้าไปปักหลัก ปลูกต้นไม้และปลูกบ้านในที่ดินซึ่งอยู่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสิบสองรื้อถอนเสาและบ้านที่นำเข้ามาปักและปลูกในพื้นที่ดินเขตประทานบัตรของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสิบสองและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินเขตประทานบัตรดังกล่าว และให้จำเลยแต่ละรายชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบสองจะปฏิบัติตามคำขอดังกล่าวข้างต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ให้การทำนองเดียวกันว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะประทานบัตรของโจทก์สิ้นอายุแล้วและจำเลยทั้งสิบเอ็ดครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2522เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ จึงได้สิทธิครอบครองโดยชอบ โจทก์ไม่ได้ทำเหมืองแร่มานานแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสิบเอ็ด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 11 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ก่อนสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงให้งดการสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสิบสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริง ฟังได้เป็นยุติตามคำฟ้องคำให้การและตามที่คู่ความแถลงรับกันว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตประทานบัตรที่ 9542/13760 ของโจทก์ซึ่งมีอายุ 9 ปี นับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2528 สิ้นอายุวันที่ 6 มีนาคม 2537 และเมื่อสิ้นอายุตามประทานบัตรดังกล่าวแล้ว โจทก์มิได้ดำเนินการขอต่ออายุประทานบัตรหรือขอประทานบัตรใหม่ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2537 และยื่นฟ้องจำเลยที่ 7 ถึงที่ 12เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2537 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบสองหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาประการแรกว่า เมื่อขณะยื่นฟ้องประทานบัตรของโจทก์ยังไม่สิ้นอายุแม้ต่อมาประทานบัตรดังกล่าวจะสิ้นอายุแล้วโจทก์ก็ยังมีอำนาจฟ้องเพราะการพิจารณาเรื่องอำนาจฟ้องต้องถือเอาในขณะยื่นฟ้องนั้นเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 73(3) บัญญัติว่า”ผู้ถือประทานบัตรมีสิทธิในเขตเหมืองแร่เฉพาะแต่ใช้ที่ดินในเขตเหมืองแร่ ที่ขุดเอาแร่แล้วหรือที่มีแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดทำการเหมืองเพื่อเกษตรกรรมในระหว่างอายุประทานบัตร แต่ทั้งนี้เมื่อสิ้นอายุประทานบัตรแล้วมิให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า การได้รับประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่นั้นไม่ทำให้ผู้นั้นได้สิทธิครอบครองที่ดินที่อยู่ในเขตประทานบัตรด้วย แต่หากมีผู้เข้าไปขัดขวางการทำแร่ในเขตประทานบัตรโดยไม่มีอำนาจโดยชอบแล้ว ผู้ได้รับประทานบัตรก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้นั้นได้ และเมื่อสิ้นอายุประทานบัตรแล้ว มิให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิครอบครองผู้ถือประทานบัตรจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้ใดให้ออกจากที่ดินในเขตประทานบัตรได้สำหรับจำเลยที่ 7 ถึงที่ 12 นั้น ได้ความว่าโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2537 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ประทานบัตรสิ้นอายุอันมีผลทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่พิพาทแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 7 ถึงที่ 12 ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6ซึ่งโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2537 อันเป็นวันเวลาก่อนที่จะสิ้นอายุประทานบัตร 3 วัน เมื่อได้ความว่าในระหว่างพิจารณาประทานบัตรของโจทก์สิ้นอายุแล้ว และโจทก์มิได้ดำเนินการขอต่ออายุประทานบัตรหรือขอประทานบัตรใหม่ จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตประทานบัตรอีกต่อไป การโต้แย้งสิทธิของโจทก์จึงสิ้นสุดลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้เช่นกัน ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ยังมีหน้าที่กลบถมขุมเหมืองให้กลับสู่สภาพเดิม โจทก์มีความจำเป็นต้องขับไล่จำเลยทั้งสิบสองออกไปนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 72 บัญญัติว่า “บรรดาขุม หลุม หรือปล่องที่ไม่ได้ใช้ในการทำเหมืองแล้ว ให้ผู้ถือประทานบัตรจัดการถมหรือทำที่ดินให้เป็นตามเดิมเสียทุกแห่ง ไม่ว่าประทานบัตรนั้นจะสิ้นอายุแล้วหรือไม่เว้นแต่ประทานบัตรได้กำหนดเป็นอย่างอื่นหรือทรัพยากรธรณีประจำท้องที่จะได้สั่งเป็นหนังสือกำหนดเป็นอย่างอื่นด้วยความเห็นชอบของอธิบดี” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า แม้ประทานบัตรสิ้นอายุแล้วผู้ถือประทานบัตรก็ต้องมีหน้าที่กลบถมขุมเหมืองหรือทำที่ดินให้เป็นตามสภาพเดิม แต่ถ้าหากประทานบัตรได้กำหนดไว้เป็นประการอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว หรือทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ในเขตประทานบัตรตั้งอยู่ได้มีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น เมื่อตามประทานบัตรที่พิพาทเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการถมขุม หลุม หรือปล่อง ที่ไม่ได้ใช้ในการทำเหมืองแร่ไว้ว่าให้ปฏิบัติตามคำสั่งของทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ตามความในมาตรา 72แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และไม่ปรากฎตามคำฟ้องว่าทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ได้มีคำสั่งให้โจทก์ผู้ถือประทานบัตรดำเนินการเป็นประการใดแล้ว โจทก์จึงยังไม่มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการกลบถมขุมเหมืองแต่อย่างใด ทั้งตามคำฟ้องก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสิบสองได้เข้าทำการขัดขวางโจทก์อันจะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่า ขณะยื่นฟ้องโจทก์เป็นผู้ครอบครองที่พิพาทเพราะประทานบัตรยังไม่สิ้นอายุ พฤติการณ์ของจำเลยทุกคนย่อมถือได้ว่าละเมิดต่อโจทก์โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทุกคนนั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า โจทก์ยังไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่พิพาทและยังไม่ได้เตรียมการเพื่อเข้าไปทำเหมืองตามที่ประทานบัตรเอกสารหมาย จ.1 อนุญาตและกำหนดเงื่อนไขไว้ทั้งไม่ปรากฎว่าในช่วงระยะเวลา 3 วัน ดังกล่าวมีคำสั่งจากทรัพยากรธรณีประจำท้องที่ให้โจทก์จัดการถมหรือทำที่ดินซึ่งอยู่ในเขตประทานบัตรให้เป็นตามเดิมแต่อย่างใด ความเสียหายของโจทก์ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น ถือว่าโจทก์ไม่เสียหายดังนั้น การที่โจทก์ฎีกามาดังกล่าว จึงมิได้เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่าไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องอย่างไรถือเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน