แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติของมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มีความหมายชัดแจ้งอยู่แล้วว่า เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้ว ต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายสถานเดียว จะกลับไปนำมาตรา 14 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้มิได้เพราะบทบัญญัติดังกล่าวต้องใช้บังคับแก่กรณีที่ยังไม่ได้ มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 คดีถึงที่สุด วันที่ 27 มกราคม 2540 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่า คดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รวม 8 ราย เป็นจำนวนเงิน 3,797,764.77 บาท และจำเลยได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2539เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ของจำเลย ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลย ขอให้พิจารณาคำขอประนอมหนี้ของจำเลยดังกล่าวศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ตามรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาวันที่ 26พฤษภาคม 2540 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้ ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ต่อไปศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าควรให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขคำขอประนอมหนี้ต่อไปภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด วันที่ 22 สิงหาคม 2540 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและพิพากษาให้จำเลยล้มละลายต่อไป ตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและนัดฟังคำพิพากษา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยและรายงานการประนอมหนี้ได้ความว่าจำเลยเป็นข้าราชการมีเงินเดือนเดือนละ 20,540 บาทคดียังไม่มีเหตุที่จะพิพากษาให้จำเลยล้มละลายพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับ ให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้วจะมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้หรือไม่ พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 60 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่าการประนอมหนี้ไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดีเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงาน หรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย” เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งอยู่แล้วว่า เมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้ว ต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายสถานเดียวจะกลับไปใช้มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาใช้บังคับแก่กรณีนี้มิได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวต้องใช้บังคับแก่กรณีที่ยังไม่ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้ว ศาลจึงต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน