แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
นายจ้างออกคำสั่งห้ามลูกจ้างชุมนุมและเผยแพร่เอกสารในบริเวณที่ทำการของนายจ้างโดยมิได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อน เมื่อปรากฏจากคำปรารภของคำสั่งนั้นว่าการเผยแพร่เอกสารหรือการนัดชุมนุมของพนักงานลูกจ้างได้เคยกระทำมาก่อนแล้ว ซึ่งเอกสารที่เผยแพร่หรือการนัดชุมนุมที่เคยมีบางครั้งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่พนักงานและก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการของนายจ้าง ดังนี้เห็นได้ว่า นายจ้างประสงค์จะห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำการดังกล่าวอีกต่อไป หากกระทำจะถือเป็นความผิดทุกครั้ง จึงเป็นคำสั่งที่มีผลต่อเนื่องตลอดเวลา ตราบใดที่นายจ้างยังห้ามอยู่ สหภาพแรงงาน ฯ ของลูกจ้างย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหาว่านายจ้างฝ่าฝืนกฎหมายต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ได้อยู่ตราบนั้น การนับเวลาหกสิบวันตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 124 จะเริ่มนับแต่วันที่ออกคำสั่งเป็นวันเริ่มต้นเพียงวันเดียวเป็นยุติไม่ได้
สหภาพแรงงานก่อตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างและระหว่างลูกจ้างด้วยกัน การเผยแพร่เอกสารและนัดชุมนุมเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวย่อมเป็นสิทธิขั้นมูลฐาน แต่การที่สหภาพแรงงานจะกระทำกิจกรรมสองประการนั้นในสถานที่ประกอบกิจการหรือบริเวณสถานประกอบกิจการของนายจ้างควรจะมีข้อกำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าควรเผยแพร่ในเรื่องใด ลักษณะใด เมื่อไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ การที่นายจ้างผู้เป็นเจ้าของอาคารสถานที่ประกอบกิจการออกคำสั่งให้ส่งข้อความในเอกสารหรือแจ้งเรื่องลักษณะให้นายจ้างพิจารณาอนุญาตก่อนจึงเป็นวิธีการที่ดี เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงาน ฯ โจทก์กับนายจ้างให้ดียิ่งขึ้น คำสั่งของนายจ้างจึงเป็นคำสั่งที่ชอบ ไม่เป็นการขัดขวางการดำเนินการของโจทก์ ไม่เป็นการเข้าไปแทรกในกิจการของโจทก์ เพราะถ้าโจทก์กระทำในที่อื่นนอกสถานที่บริเวณของนายจ้างย่อมทำได้ การออกคำสั่งของนายจ้างจึงหาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามความหมายในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(4) (5) ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๒๘ จำเลยได้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และกระทำละเมิดต่อโจทก์คือ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๗ จำเลยที่ ๑๔ ได้ออกคำสั่งที่ ๘๖/๒๕๒๗ ห้ามโจทก์และพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ ๑๔ ชุมนุมและเผยแพร่เอกสารในบริเวณที่ทำการซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของสมาชิกของโจทก์โดยกำหนดการลงโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งไว้ด้วยคำสั่งดังกล่าวมีความหมายรวมถึงการชุมนุมและเผยแพร่เอกสารของโจทก์และกรรมการลูกจ้างด้วย ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ ๑๔ ก่อนจึงจะดำเนินการได้ โจทก์ได้ร้องเรียนต่อจำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๑๓ ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการขัดขวางการดำเนินงานของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๓ มีคำสั่งยกคำร้องโดยอ้างว่าโจทก์ร้องเรียนเกินกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๗ ที่อ้างว่ามีการฝ่าฝืน คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๓ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะความผิดของจำเลยที่ ๑๔ เป็นการกระทำต่อเนื่องมาตลอดจนถึงวันฟ้อง ขอให้ศาลบังคับจำเลยสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑๔ และเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ถึงจำเลยที่ ๑๓ ดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๑๓ ให้การว่า โจทก์ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เกินกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนตามที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๔ บัญญัติไว้ ไม่ว่าจะนับตั้งแต่วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๗ หรือวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๗ ที่จำเลยที่ ๑๔ มีหนังสือชี้แจงความหมายของคำสั่งดังกล่าวคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๓ จึงชอบแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑๔ ให้การว่า สถานที่ทำงานของจำเลยที่ ๑๔ เป็นของรัฐเป็นสถานที่ราชการสำหรับการปฏิบัติงาน คำสั่งของจำเลยที่ ๑๔ เป็นคำสั่งของเจ้าของสถานที่ที่จะใช้สิทธิครอบครองดูแลการใช้สถานที่ของผู้อื่นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของสถานที่ได้ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่เป็นการห้ามชุมนุมโฆษณาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๙(๑) (๒) (๓) (๔) แต่เป็นการห้ามชุมนุมหรือโฆษณาที่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายชื่อเสียงและทรัพย์สินอันเป็นเอกสิทธิของจำเลยที่ ๑๔ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๙ วรรคท้าย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันบางประการ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยที่ ๑๔ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ถึงจำเลยที่ ๑๓ เป็นการไม่ชอบ พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑๔ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑(๔) (๕) ให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๓๐/๒๕๒๘ และให้เพิกถอนคำสั่งที่๘๖/๒๕๒๗ ของจำเลยที่ ๑๔
จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าการยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ ๑๔ ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือต่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๓ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๔ นั้น โจทก์ต้องยื่นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืน สำหรับคดีนี้คือนับแต่วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๔ ที่จำเลยที่ ๑๔ ออกคำสั่งที่ ๘๖/๒๕๒๗ และคำสั่งดังกล่าวจะถือว่าเป็นคำสั่งที่มีผลต่อเนื่องหาได้ไม่ พิเคราะห์แล้ว จากคำปรารภของจำเลยที่ ๑๓ ในวรรคแรกแห่งคำสั่งที่ ๘๖/๒๕๒๗ ความว่า ด้วยปรากฏว่าได้มีพนักงานหรือลูกจ้างของ อ.ส.ม.ท. ได้เผยแพร่เอกสารในลักษณะต่าง ๆ กันในบริเวณที่ทำการ อ.ส.ม.ท. โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เอกสารบางฉบับมีข้อความเป็นเท็จหรือก่อให้เกิดความแตกแยกสามัคคี ความกระด้างกระเดื่องหรือเกิดความเข้าใจผิดในหมู่พนักงานตลอดจนเสียหายต่อภาพพจน์ขององค์การที่มีต่อสาธารณชน และนอกจากนั้นยังมีการนัดชุมนุมในลักษณะที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการ อ.ส.ม.ท. จากคำปรารภดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่าการเผยแพร่เอกสารหรือการนัดชุมนุมของพนักงานลูกจ้างได้เคยกระทำมาก่อนแล้ว และก่อความไม่พึงใจคุกรุ่นแก่จำเลยที่ ๑๔ ตลอดมา ในที่สุดจำเลยที่ ๑๔ จึงออกคำสั่งห้ามการกระทำนั้นเสีย กรณีดังกล่าวสอดส่องให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ ๑๔ ได้ว่าประสงค์จะห้ามปรามพนักงานลูกจ้างมิให้กระทำการนั้นอีกต่อไปหากกระทำจะถือว่าเป็นความผิดทุกครั้ง คำสั่งของจำเลยที่ ๑๔ จึงเป็นคำสั่งที่มีผลต่อเนื่องตลอดเวลา มิใช่ออกคำสั่งห้ามปรามการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นคราว ๆ แล้วก็เสร็จสิ้นกันไปตราบใดที่จำเลยที่ ๑๔ ยังห้ามอยู่ โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ ๑๔ ผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้อยู่ตราบนั้น การนับเวลาหกสิบวันจะเริ่มนับแต่วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๗ วันเริ่มต้นเพียงวันเดียวตามที่จำเลยอุทธรณ์หาได้ไม่ การตีความมาตรา ๑๒๔ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยความเป็นธรรมและเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว
จำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งที่ ๘๖/๒๕๒๗ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการขัดขวางการดำเนินการของโจทก์หรือเป็นการเข้าแทรกแซงในการดำเนินการของโจทก์ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สหภาพแรงงานเป็นสถาบันหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและระหว่างลูกจ้างด้วยกัน การเผยแพร่เอกสารและนัดชุมนุมเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ย่อมเป็นสิทธิของมูลฐาน แต่การที่สหภาพแรงงานจะกระทำกิจกรรมสองประการนั้นในสถานประกอบกิจการหรือบริเวณสถานประกอบกิจการของนายจ้างนั้นโดยปกติควรมีข้อกำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าควรเผยแพร่ในเรื่องใดลักษณะใด คดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ประการใด เพราะฉะนั้นการเผยแพร่เอกสารและการนัดชุมนุมจึงควรมีการควบคุมบ้างพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพราะสถานประกอบกิจการเป็นของจำเลยที่ ๑๔ การส่งข้อความในเอกสารหรือแจ้งเรื่อง ลักษณะให้จำเลยที่ ๑๔ พิจารณาอนุญาตก่อนจึงเป็นวิธีที่ดี เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑๔ ให้ดียิ่งขึ้น ศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวจำเลยที่ ๑๔ ผู้เป็นเจ้าของอาคารสถานที่ประกอบกิจการย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบ ไม่เป็นการขัดขวางการดำเนินการของโจทก์ ไม่เป็นการเข้าไปแทรกในกิจการของโจทก์ เพราะถ้าโจทก์กระทำในที่อื่นนอกสถานที่บริเวณของจำเลยที่ ๑๔ โจทก์ก็ย่อมทำได้ การออกคำสั่งของจำเลยที่ ๑๔ จึงหาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามความหมายในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑(๔) (๕) ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์