คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2744/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทที่เช่าจากโจทก์ ต่อมาที่ดินพิพาทใต้บ้านถูกน้ำกัดเซาะเป็นเหตุให้ตลิ่งพังทลายลงสู่แม่น้ำกลายสภาพเป็นที่ชายตลิ่งโดยที่จำเลยยังคงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ตลอดมาและโจทก์ยังคงสงวนสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เป็นค่าเช่าที่ดินพิพาทอยู่ มิได้ปล่อยทิ้งให้เป็นที่ชายตลิ่งที่ประชาชนทั่วไปจะเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1304(2) เมื่อสัญญาเช่าที่ดินพิพาทสิ้นสุดลงจำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์อีกต่อไป โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมนายคทาวุธ อินทรทูต บิดาโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่5319 ได้ให้จำเลยทั้งสองเช่าตั้งแต่ปี 2514 อัตราตารางวาละ 2 บาทต่อเดือน เป็นเนื้อที่60 ตารางวา โดยมีการทำหลักฐานการเช่าฉบับสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2527มีกำหนด 3 ปี คิดค่าเช่าอัตราตารางวาละ 5 บาท ต่อเดือน วันที่ 29 กันยายน 2529นายคทาวุธถึงแก่กรรมและต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2530 สัญญาเช่าสิ้นสุด โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ให้เช่าต่อมาจึงให้ทนายความบอกเลิกสัญญาเช่า จำเลยทั้งสองตกลงจะออกจากที่เช่าภายในเดือนเมษายน 2531 หากผิดข้อตกลงยินยอมชดใช้ค่าเสียหายอัตราตารางวาละ 100 บาท ต่อเดือนหรือเดือนละ 6,000 บาท ให้แก่โจทก์แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยทั้งสองผิดข้อตกลง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดิน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าจำนวน 18,000 บาท และค่าเสียหายจำนวน 54,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 6,000 บาทจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่เช่า

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีและไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยทั้งสองปลูกบ้านในที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยทั้งสองทำหลักฐานการเช่ากับโจทก์เนื่องจากสำคัญผิดในสาระสำคัญว่าได้ปลูกบ้านในที่ดินโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกนายอำนวย นุชหมอน ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นส่งหมายเรียกให้แก่นายอำนวยทราบโดยชอบแล้ว นายอำนวยไม่ยื่นคำคัดค้าน ถือว่าไม่ติดใจคัดค้านศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งแต่งตั้งนายอำนวยเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 อันเป็นการไม่ชอบ เนื่องจากเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาและมีคำสั่งดังกล่าว อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ศาลฎีกาจึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นเสีย เมื่อปรากฏว่านายอำนวยได้รับหมายเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความแทนโดยชอบและไม่ยื่นคำคัดค้านถือว่านายอำนวยไม่ติดใจคัดค้าน ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งแต่งตั้งให้นายอำนวย นุชหมอน เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5319 ตำบลบางศรีเมืองอำเภอตลาดขวัญ จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.21 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองให้ออกจากที่ดินพิพาทและมีสิทธิเรียกค่าเช่าและค่าเสียหายได้หรือไม่ เพียงใด โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองปลูกบ้านในที่ดินพิพาทที่เช่าจากโจทก์ มิใช่ปลูกในที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใดนั้น นอกจากตัวโจทก์จะเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 แล้ว หม่อมราชวงศ์หญิงระย้าทิพย์ อินทรทูต มารดาโจทก์ยังเบิกความสนับสนุนว่า พยานเป็นภรรยานายคทาวุธ อินทรทูต ที่ดินพิพาทนายคทาวุธได้รับมรดกมาจากบิดาพยานเป็นผู้ทำสัญญาให้เช่าที่ดินพิพาท 10 ราย รวมทั้งจำเลยทั้งสองด้วย ตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา โดยคิดค่าเช่าอัตราตารางวาละ 2 บาท ต่อมาคิดค่าเช่าจากจำเลยทั้งสองอัตราตารางวาละ 5 บาท นายคทาวุธโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และมีการทำสัญญาเช่าฉบับสุดท้ายกับจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.1 เห็นว่าโจทก์มีสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยทั้งสองเบิกความยอมรับว่าลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.1 จริงเป็นพยานหลักฐานและแม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวโดยไม่ทราบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองซักถามและทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า ตนเองกับพวกไปที่สำนักงานทนายความโจทก์ตามหนังสือของทนายความโจทก์ที่มีมาถึงทนายความโจทก์นำเอกสารหมาย จ.1 มาให้ตนลงลายมือชื่อโดยบอกว่าหากลงลายมือชื่อแล้วก็จะอยู่ที่บ้านได้ไม่ถูกขับไล่ แล้วจำเลยที่ 1 ยังนำสัญญาที่ตนลงลายมือชื่อแล้วดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อที่บ้านอีกด้วย จากนั้นจึงนำสัญญาดังกล่าวไปคืนทนายความโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับเช่นเดียวกันว่า สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อแล้วนำมาจากสำนักงานทนายความโจทก์ให้ตนลงลายมือชื่อโดยบอกว่าลงลายมือชื่อแล้วจะได้อยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าลงลายมือชื่อไปโดยไม่รู้ว่าเป็นสัญญาเช่าเพราะอ่านหนังสือไม่ออกก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็ทราบว่าการลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวทำให้จำเลยทั้งสองจะได้อยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปไม่ถูกขับไล่ เหมือนดังเช่นที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2514 แล้ว จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.1 โดยไม่ทราบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ดินพิพาทฉะนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเช่าที่ดินพิพาทจากบิดาโจทก์มาตั้งแต่ปี 2514 ซึ่งขณะนั้นที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบิดาโจทก์โดยเช่ากันครั้งละ 3 ปี อัตราค่าเช่าตารางวาละ 2 บาทต่อเดือน และต่อมาเพิ่มขึ้นเป็นอัตราค่าเช่าตารางวาละ 5 บาทต่อเดือน เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำเลยทั้งสองก็เช่าที่ดินพิพาทต่อมาอีกครั้นเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าครั้งสุดท้ายตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสองเช่าที่ดินพิพาทอีกต่อไป จำเลยที่ 1 ยินยอมทำบันทึกข้อตกลงพร้อมผู้เช่าที่ดินของโจทก์รายอื่นว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทภายในเดือนเมษายน 2531 หากครบกำหนดแล้วยังไม่ออกไปก็ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์อัตราเดือนละ 100 บาท ต่อ 1 ตารางวา ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.5 และ จ.15 ถึง จ.19 เช่นนี้ พยานหลักฐานของโจทก์แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองยอมรับว่าปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทที่เช่าจากโจทก์และยินยอมรับรองสิทธิของโจทก์ที่จำเลยทั้งสองต้องออกไปจากที่ดินพิพาทเมื่อสิ้นสุดเวลาที่โจทก์ได้ผ่อนผัน นอกจากนี้การที่ทางราชการออกหมายเลขที่บ้านให้แก่จำเลยทั้งสองแสดงให้เห็นว่าผู้แจ้งต่อราชการว่าบ้านที่ปลูกและขอเลขที่บ้านอยู่ในที่ดินพิพาทที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิการเช่าจากโจทก์นั่นเอง หากมีการแจ้งว่าปลูกบ้านในที่ชายตลิ่งซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทางราชการจะไม่ออกหมายเลขที่บ้านให้แก่จำเลยทั้งสองอีกทั้งตามสำเนาโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 5319 เอกสารหมาย จ.21 ออกให้ตั้งแต่ปี 2461โดยมีการทำแผนที่โฉนดที่ดินและลงหลักเขตที่ดินไว้ด้วย แต่เพราะแนวเขตที่ดินด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางสีทองถูกน้ำเซาะตลิ่งตลอดมาเป็นเวลานาน จึงทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นตลิ่งอยู่ใต้บ้านจำเลยทั้งสองถูกน้ำเซาะพังทลายลงสู่ท้องน้ำและหลักเขตที่ดินหลุดหายไปเป็นเหตุให้ไม่ปรากฏหลักเขตที่ดินให้เห็นได้ในปัจจุบันซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในภายหลังจนทำให้ที่ดินพิพาทใต้บ้านที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างกลายสภาพเป็นที่ชายตลิ่งโดยที่จำเลยทั้งสองยังคงครอบครองบ้านดังกล่าวนั้นอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาทที่ทำไว้กับโจทก์เช่นนี้ จึงหาทำให้ที่ชายตลิ่งที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างบ้านดังกล่าวตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่จำเลยทั้งสองแสดงหลักฐานว่าถูกกรมเจ้าท่าลงโทษปรับฐานสร้างสิ่งรุกล้ำลำน้ำโดยมิได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพ.ศ. 2469 มาตรา 117 และ 118 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 มาตรา 23 และมาตรา 25 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 จำเลยทั้งสองจึงมิได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาท หากแต่ปลูกอยู่ในที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองถูกกรมเจ้าท่าลงโทษปรับตามหลักฐานใบเสร็จรับเงินดังกล่าว น่าจะเกิดจากการก่อสร้างสิ่งอื่นเพิ่มเติมรุกล้ำลำน้ำขึ้นในภายหลังมิใช่อาคารบ้านของจำเลยทั้งสองที่มีอยู่แต่เดิมดังที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า เดิมหน้าบ้านทำโป๊ะไว้สำหรับจอดเรือขึ้นลง แต่เมื่อ 2 ถึง3 ปี มานี้ กรมเจ้าท่ามีคำสั่งให้สร้างสะพานไม้ที่หน้าบ้านและตามภาพถ่ายบ้านของจำเลยทั้งสองหมาย ล.1 ภาพที่ 1 โป๊ะดังที่จำเลยที่ 1 เบิกความถูกรื้อถอนไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว เพราะหากบ้านของจำเลยทั้งสองปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำบริเวณที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังที่กล่าวอ้างแล้ว นอกจากจะถูกปรับแล้วจำเลยทั้งสองจะต้องรื้อถอนอาคารบ้านหลังดังกล่าวออกจากที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วย เหมือนดังเช่นโป๊ะที่ถูกรื้อถอนไปแล้วเช่นกัน ทั้งการที่กรมเจ้าท่าลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเพียง 500 บาท ก็แสดงว่าจำเลยทั้งสองปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดรุกล้ำลำน้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพ.ศ. 2456 มาตรา 118 กำหนดโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่ปลูกรุกล้ำในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 500 บาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละ 10,000บาท หากเป็นอาคารบ้านของจำเลยทั้งสองที่ปลูกรุกล้ำที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจริง พื้นที่ของอาคารบ้านของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมต้องมากกว่าหนึ่งตารางเมตร ค่าปรับดังกล่าวย่อมต้องสูงมากกว่า 500 บาท แน่นอน ฉะนั้น จึงสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่ามีการสร้างโป๊ะสำหรับจอดเรือขึ้นลงและรื้อถอนแล้ว มิใช่บ้านทั้งหลังของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองปลูกบ้านในที่ดินพิพาทที่เช่าจากโจทก์ ต่อมาภายหลังที่ดินพิพาทใต้อาคารบ้านที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างถูกน้ำกัดเซาะเป็นเหตุให้ตลิ่งพังทลายลงสู่ท้องน้ำทำให้ที่ดินพิพาทกลายสภาพเป็นที่ชายตลิ่งโดยที่จำเลยทั้งสองยังคงทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ตลอดมา และโจทก์ยังคงสงวนสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เป็นค่าเช่าจากที่ดินพิพาทนั้นอยู่ มิได้ปล่อยทิ้งให้เป็นที่ชายตลิ่งที่ประชาชนทั่วไปจะเข้ามาใช้ประโยชน์รวมกันได้แต่อย่างใด ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงมิได้เป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) เมื่อสัญญาเช่าที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 สิ้นสุดลงและล่วงเลยกำหนดเวลาที่โจทก์ผ่อนผันให้จำเลยทั้งสองอยู่ในที่ดินพิพาทได้ตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทของโจทก์อีกต่อไป โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองได้ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่เช่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 18,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่เช่าให้แก่โจทก์

Share