แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ผู้เป็นบิดาฟ้องเรียกบุตรคืนจากหญิงผู้เป็นมารดา โดยอ้างอำนาจปกครงอตามมาตรา 1537 ป.ม.แพ่งฯ แต่จำเลยก็ได้ฟ้องแย้งขอให้ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่แก่มารดาตามมาตรา 1538(6) ดังนี้ เป็นบทยกเว้นของมาตรา 1537 ที่อำนาจปกครองนั้นอยู่แก่มารดา อันเป็นกรณีธรรมดาโดยทั่ว ๆ ไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ โจทก์ได้อยู่กินกับจำเลยเช่นสามีภรรยา และมิได้จดทะเบียนสมรสเกิดบุตรด้วยกัน ๑ คน คือเด็กหญิงจันทนา ต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำการจดทะเบียนรับรองเด็กหญิงจันทนาเป็นบุตร แล้วจำเลยได้แยกไปอยู่ต่างหากและพาบุตรไปด้วย โจทก์เห็นว่าดจทก์มีฐานะและมีสิทธิที่จะเลี้ยงดูปกครองเด็กได้ดีกว่าจำเลย จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยส่งตัวเด็กหญิงจันทนาให้แก่โจทก์ จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไล่จำเลยมาอยู่บ้านจำเลยและคลอดเด็กหญิงจันทนาที่บ้านจำเลย โดยโจทก์มิได้เหลียวแลจำเลย ๆ ให้ความอุปการะเลี้ยงดูบุตรตลอดมา และสามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กได้เป็นอย่างดี และฟ้องแย้งขอปกครองเด็กหญิงจันทนาผู้บุตรต่อไป ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้เด็กหญิงจันทนาอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยต่อไป ยกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ แม้โจทก์จะฟ้องอ้างอำนาจปกครองตามมาตรา ๑๕๓๗ ก็ดี แต่จำเลยได้ฟ้องแย้งขอให้ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่แก่มารดาตามมาตรา ๑๕๓๘ (๖) และมาตรา ๑๕๓๘ นี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่า เป็นบทบัญญัติระบุกรณีพิเศษบางประการ ยกเว้นข้อความในมาตรา ๑๕๓๗ ที่ให้อำนาจปกครองนั้นอยู่แก่บิดาอันเป็นกรณีธรรมดาโดยทั่ว ๆ ไป ฉะนั้นเมื่อโจทก์และจำเลยต่างฟ้อง และฟ้องแย้งกันเช่นนี้ ศาลย่อมพิเคราะห์วินิจฉัยพิพากษาสั่งตามที่เห็นสมควรแก่รูปคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งให้อำนาจปกครองอยู่แก่มารดา
พิพากษา.