คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2474

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ที่ควรได้รับประโยชน์ การตีความในสัญญาประกันต้องตีอย่างเคร่งครัด

ย่อยาว

เดิมโจทก์ชนะความจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นเงิน ๘๒๑๗ บาทเศษ โจทกจึงนำยึดที่ดิน ๒ แปลงซึ่งจำเลยที่ ๑ – ๒ ได้จำนองไว้กับผู้อื่น ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ ๑ – ๒ ตกลงทำสัญญากันถอนการยึดที่ดินนั้นมีความว่า “โจทก์จะออกเงินไถ่ที่ดินแปลงหนึ่งแทน แล้วให้จำเลยนำที่ดินแปลงที่ไถ่นั้นมาจำนองกับโจทก์เป็นเงิน ๒๐๐๐๐ บาท (รวมทั้งหนี้ตามคำพิพากษาด้วย) และจำเลยที่ ๑ – ๒ จะโอนใบพิศูจน์หนี้ให้โจทก์เพื่อมาหักใช้หนี้รายจำนองนี้ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกันว่าถ้าลูกหนี้ (จำเลยที่ ๑ – ๒) ไม่ไปทำสัญญาจำนอง ไม่โอนใบพิศูจน์หนี้หรือราคาทรัพย์ที่จำนองไม่พอกับเงินกู้ผู้ค้ำประกันนี้ใช้ได้ตามสัญญานี้ และตามสัญญาจำนองที่ลูกหนี้ไปทำจนกว่าเสร็จการจำนอง เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญากันแล้ว จำเลยที่ ๑ – ๒ ได้จำนองที่ดิน ๒ แปลงรวมกัน และต้องไถ่พร้อมกัน เป็นอันว่าการไถ่ที่ดินและจำนองกันใหม่ไม่ได้ตามสัญญาข้างต้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๓ ขอให้ใช้เงิน ๘๒๑๗ บาทเศษตามคำพิพากษาเดิม
ศาลฎีกาเห็นว่าการตีความในสัญญาค้ำประกันนั้นต้องตีความอย่างเคร่งครัด และผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ที่ควรได้รับประโยชน์ และจะตีความให้ผู้รับประกันรับผิดเกินกว่าที่เขารับรองไม่ได้ในสัญญาไม่ปรากฎว่าถ้าจำเลยที่ ๑ – ๒ ไถ่ถอนที่ดินไม่ได้แล้ว ผู้รับประกันจะต้องรับผิดในหนี้สินเดิม เพราะฉะนั้นผู้รับประกันจึงไม่ต้องรับผิด สวนเรื่องโอนใบพิศูจน์หนี้ ก็ปรากฎว่าโจทก์ยังไม่ยอมรับเพราะว่าเรื่องจำนองยังไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นจำเลยที่ ๓ ก็ยังไม่ต้องรับผิด จึงตัดสินให้จำเลยที่ ๓ พ้นจากการรับผิดในฐานที่เป็นนายประกันตามสัญญานั้น

Share