แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งสำนวนไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน อันเป็นขั้นตอนในชั้นสอบสวนคดีอาญา หาได้มีผลผูกพันกับคดีแพ่งไม่ จึงจะนำมารับฟังเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลในคดีแพ่งไม่ได้ว่าจำเลยไม่ได้สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ขาด
แม้จำเลยให้การว่า หนังสือแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และไม่ปรากฏว่าจำเลยคัดค้าน จึงถือว่าจำเลยสละประเด็นดังกล่าว ทั้งศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง
จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมิน จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่จำเลยหาได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินไม่ แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจโต้แย้งการประเมิน อันมีผลให้การประเมินเป็นอันยุติ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวและย่อมไม่มีสิทธิต่อสู้คดีว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ที่ 1 ทั้งสี่สำนวนว่า โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ทั้งสี่สำนวนว่า โจทก์ที่ 2 และให้เรียกจำเลยทั้งสี่สำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามฟ้อง 232,332,861.47 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าที่ชำระขาด 11,053,455 บาท 27,464,750 บาท 15,130,086 บาท 31,655,616 บาท ตามลำดับนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 232,332,861.47 บาท และให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าชำระขาดนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 11,053,455 บาท (ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2558) จำนวน 27,464,750 บาท (ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2558) จำนวน 15,130,086 บาท (ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2558) และจำนวน 31,655,616 บาท (ฟ้องวันที่ 13 สิงหาคม 2558) กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมใช้ชื่อว่า “บริษัทเดฟฟารี เทคโนโลยี แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ไทยแลนด์) จำกัด” มีวัตถุประสงค์นำรถยนต์โดยสารและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย เมื่อระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึงเดือนกันยายน 2550 จำเลยนำเข้ารถยนต์โดยสารรุ่นต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีเมืองกำเนิดในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักร 38 ครั้ง ตามคำฟ้อง โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีการตรวจปล่อยสินค้าที่จำเลยนำเข้ามาแล้ว ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2550 เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 เข้าตรวจค้นสำนักงานของจำเลยและยึดเอกสารซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าของจำเลยทั้ง 38 ครั้ง ดังกล่าวพบว่า จำเลยนำเข้าโดยสำแดงปริมาณและหรือราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นการสำแดงราคาเป็นเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร จึงส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร ตามมาตรา 27 และ 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลย ในส่วนของคดีแพ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินราคาและค่าภาษีอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทตามราคาแท้จริงที่ตรวจพบ รวม 38 ฉบับ จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินแล้วเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2557 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ส่งใบแนบแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวให้แก่จำเลยอีกครั้งเพื่อระบุรายละเอียดและเหตุผลในการประเมินเพิ่มเติม จำเลยไม่ชำระค่าภาษีอากรและมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีอากรในส่วนที่ขาดหรือไม่ เห็นว่า การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งสำนวนไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 บัญญัติห้ามเฉพาะมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ อันเป็นขั้นตอนในชั้นสอบสวนคดีอาญาหาได้มีผลผูกพันกับคดีแพ่งไม่ จึงจะนำมารับฟังเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลในคดีแพ่งไม่ได้ว่าจำเลยไม่ได้สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งยังได้ความจากนายชัยณรงค์ พนักงานอัยการผู้มีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในคดีอาญา เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า เอกสารหลักฐานที่เกิดขึ้นภายหลังการตรวจปล่อยสินค้า พยานไม่ได้นำมาพิจารณาประกอบ พยานพิจารณาในขณะนั้นว่าราคาสินค้าที่โอนไปสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราคาที่สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าถูกต้องตรงกัน ซึ่งเอกสารที่โจทก์ทั้งสองตรวจพบว่า ใบขนสินค้าขาเข้าและใบบัญชีราคาสินค้าทุกฉบับที่จำเลยยื่นสำแดงต่อโจทก์ที่ 1 มีอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าใบขนสินค้าขาเข้าและใบบัญชีราคาสินค้าที่เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ตรวจยึดจากสำนักงานของจำเลย ล้วนเป็นเอกสารที่เกิดขึ้นหลังจากปล่อยสินค้าทั้งสิ้นไม่ได้เป็นพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการนำมาใช้พิจารณาทำความเห็นสั่งฟ้องจำเลยแต่อย่างใด โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีอากรในส่วนที่ขาด ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ประการต่อมาว่า การแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้จำเลยจะให้การว่า หนังสือแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นวันนัดชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาท ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 21 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 20 จึงถือว่าจำเลยสละประเด็นดังกล่าว ทั้งศาลภาษีอากรกลางก็ไม่ได้วินิจฉัย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 (เดิม) ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า การประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่เพียงใด เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ฉ บัญญัติให้ผู้รับการประเมินต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน หากไม่อุทธรณ์ภายในเวลาดังกล่าวย่อมมีผลให้การประเมินนั้นถือเป็นอันยุติ และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8 บัญญัติให้การฟ้องคดีในศาลภาษีอากรสำหรับคดีอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรตามมาตรา 7 (1) หากกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้คัดค้านหรืออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยต่อเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะฟ้องคดีในศาลภาษีอากรได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลา เช่นว่านั้น และได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว แสดงให้เห็นว่า กฎหมายถือว่าการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ จึงกำหนดเป็นเงื่อนไขในการที่จะใช้สิทธิทางศาลต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนการนำคดีมาสู่ศาล เพื่อให้เจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเช่นว่านั้นได้พิจารณาอุทธรณ์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหรือรายละเอียดต่าง ๆ เสียชั้นหนึ่งก่อน โดยให้องค์กรผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาแก้ไขหรือทบทวนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครองให้ถูกต้องก่อนที่จะนำคดีขึ้นวินิจฉัยโดยศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีต่อไป เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) พร้อมใบแนบแบบแจ้งการประเมินที่ระบุรายละเอียดและเหตุผลในการประเมินเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 และวันที่ 8 ตุลาคม 2557 แล้ว หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมินโดยเห็นว่าการประเมินดังกล่าวไม่ชอบไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่จำเลยหาได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจโต้แย้งการประเมินนั้นอันมีผลให้การประเมินของเจ้าพนักงานเป็นอันยุติ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวและย่อมไม่มีสิทธิต่อสู้คดีว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยสำแดงราคาและชำระค่าภาษีต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริง การประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ทั้งสองชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าและเงินเพิ่มอากรขาเข้า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา ในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันตรวจปล่อยสินค้าจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ และต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจนถึงวันชำระเสร็จ แต่ต้องไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ และเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 89 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ตามฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งสี่สำนวนให้เป็นพับ