คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11286/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยดัดแปลงรถยนต์คันพิพาทที่เคยเสียภาษีสรรพสามิตมาแล้ว แต่ต่อมารถคันพิพาทประสบอุบัติเหตุจนเหลือแต่ซาก จำเลยจึงซ่อมแซมด้วยการตัดต่อคัสซี่ ตัดต่อห้องโดยสารด้านหลัง เปลี่ยนเครื่องยนต์และระบบรองรับน้ำหนักด้านหลัง เป็นการซ่อมส่วนที่เสียหายให้กลับสู่สภาพเดิม มิใช่ทำสิ่งที่ไม่มีหรือไม่เคยมีให้เกิดขึ้น จึงมิใช่เป็นการผลิตสินค้าตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4, 161 และพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 3
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 161 (1) ลงโทษปรับ 270,000 บาท คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำนวน 180,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยโจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า เดิมรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ฌ – 5012 กรุงเทพมหานคร หมายเลขตัวรถ ทีจีดี 21 – ซี 19691 หมายเลขเครื่องยนต์ บีดี 25 – ที 035781 เป็นรถยนต์กระบะบรรทุกลักษณะ 2 ตอน 3 แถว เป็นของบริษัทบางกอกมอเตอร์เวอคส์ จำกัด ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นรถยนต์นั่งชนิดแวนหรือตรวจการณ์และได้เสียภาษีสรรพสามิตแล้วเป็นเงิน 283,000 บาท ต่อมารถยนต์คันดังกล่าวประสบอุบัติเหตุ บริษัทบางกอกมอเตอร์เวอคส์ จำกัด ได้ขายซากรถคันดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อู่ชัยยนต์บางนา ซึ่งมีจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในราคา 16,500 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้ประกอบรถยนต์คันดังกล่าวขึ้นใหม่เป็นรถยนต์ของกลาง โดยตัดต่อแซสซีส์ส่วนหลังออกแล้วนำแซสซีส์รถยนต์คันอื่นเชื่อมต่อเข้าแทน ตัดต่อบริเวณห้องโดยสารด้านหลัง เปลี่ยนเครื่องยนต์และระบบรองรับน้ำหนักด้านหลัง
ปัญหาวินิจฉัยชั้นฎีกามีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติไปแล้วว่า เดิมรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ฌ – 5012 กรุงเทพมหานคร ถูกดัดแปลงเป็นรถยนต์นั่งชนิดแวนหรือตรวจการณ์และเสียภาษีสรรพสามิตแล้วเป็นเงิน 283,000 บาท ต่อมารถยนต์คันดังกล่าวประสบอุบัติเหตุ บริษัทบางกอกมอเตอร์เวอคส์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของได้ขายซากรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อู่ชัยยนตร์บางนา ซึ่งมีจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ในราคา 16,500 บาท แล้วจำเลยจึงประกอบรถยนต์คันดังกล่าวขึ้นใหม่เป็นรถยนต์ของกลาง โดยตัดต่อแซสซีส์ส่วนหลังออกแล้วนำแซสซีส์ส่วนหลังของรถยนต์คันอื่นเชื่อมต่อเข้าแทน และตัดต่อบริเวณห้องโดยสารด้านหลังกับระบบรองรับน้ำหนักด้านหลังรวมทั้งเปลี่ยนเครื่องยนต์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยก่อนจึงมีว่า การซ่อมแซมและดัดแปลงซากรถยนต์เป็นรถยนต์ของกลางเป็นการผลิตขึ้นใหม่หรือไม่ เห็นว่า จำเลยซื้อซากรถยนต์มาในราคาเพียง 16,500 บาท ในขณะที่ก่อนรถยนต์คันดังกล่าวข้างต้นจะประสบอุบัติเหตุจนเหลือเป็นซากมีราคาหลายแสนบาท เมื่อรวมกับภาษีสรรพสามิตแสดงให้เห็นว่า หลังเกิดเหตุรถยนต์จะต้องเสียหายเป็นอย่างมาก แต่คงไม่สุดวิสัยถึงขนาดที่จะซ่อมแซมหรือดัดแปลงให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมไม่ได้ มิฉะนั้นจำเลยซึ่งประกอบกิจการซ่อมรถคงไม่ซื้อซากรถยนต์คันดังกล่าวมา ดังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ว่า รถยนต์คันดังกล่าวมีอายุใช้งานกว่า 10 ปี ชิ้นส่วนอะไหล่ในการซ่อมบางชิ้นไม่มีการซ่อมจึงต้องดัดแปลงสภาพรถบางส่วน ซึ่งคำเบิกความของจำเลยสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ฟังยุติว่า การตัดต่อดัดแปลงน่าจะกระทำเท่าที่จำเป็นเฉพาะด้านหลังเท่านั้น โดยแซสซีส์และตัวถังรถตอนกลางและตอนหน้ายังคงเป็นของเดิม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้กลับสู่สภาพเดิม มิใช่ทำสิ่งที่ไม่มีหรือไม่เคยมีให้มีขึ้น การที่จำเลยซ่อมแซมและดัดแปลงซากรถยนต์คันที่เคยเสียภาษีสรรพสามิตแล้วเป็นรถยนต์ของกลางจึงมิใช่การผลิตตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 4 จำเลยไม่มีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีรถยนต์ของกลางไว้ในครอบครองโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีสรรพสามิต คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share