คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6033/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1และได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท แทน จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยชอบการที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 5 ก็เป็นการกระทำโดยชอบเช่นกัน โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายและการจำนอง โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2491 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2504ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส อันเป็นสินบริคณห์ตามมาตรา 1462แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาก่อนสมรสให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการสินบริคณห์ หรือให้จัดการร่วมกับโจทก์ที่ 1 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 จึงยังคงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมมาตรา 1468 ที่ดินพิพาทมิใช่สินเดิมของโจทก์ที่ 2 หรือ สินสมรสที่โจทก์ที่ 2 ได้มาโดยการยกให้หรือทางพินัยกรรม และการจำหน่ายที่ดินพิพาทมิใช่เป็นการยกให้โดยเสน่หาโจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 2 ก่อนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1473 เดิม นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปโดยชอบด้วย กฎหมาย โจทก์ที่ 2 ไม่อาจที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ โจทก์ที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยชอบ เมื่อจำเลยที่ 4บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ที่ 1จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป การที่โจทก์ที่ 1ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด ทำให้ จำเลยที่ 4 เสียหาย จำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 1 ได้ คดีรวมการพิพากษาเข้าด้วยกัน การที่ศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและ ค่าทนายความกับจำเลยทั้งสองสำนวนโดยไม่แยกเป็นรายสำนวน ไม่ถูกต้อง เพราะสำนวนที่สองโจทก์มิได้เป็น คู่ความด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ที่ 1 สำนวนแรกกับจำเลยในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 4 สำนวนแรกกับโจทก์สำนวนหลังว่าจำเลยที่ 4 นอกนั้นให้เรียกตามสำนวนแรก
สำนวนแรกโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนหรือทำลายหนังสือมอบอำนาจขายที่ดินฉบับลงวันที่ 3 กันยายน 2528 และพิพากษาว่าการมอบอำนาจดังกล่าวเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญตกเป็นโมฆะ และให้นิติกรรมขายที่ดินเฉพาะส่วนจำนวน 5 ไร่ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 5129 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2529 ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไปจดทะเบียนเพิกถอนการขายที่ดินเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2530 ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไปจดทะเบียนเพิกถอนการจำนองเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 ให้จำเลยที่ 4 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 5129 เนื้อที่เฉพาะส่วน 5 ไร่เป็นชื่อของโจทก์ที่ 1 และหากจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สองจำเลยที่ 4 ฟ้องขอให้บังคับให้โจทก์ที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 5129 และเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินของจำเลยที่ 4 ให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 1จะออกจากที่ดินพิพาท
โจทก์ที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 5129 ห้ามโจทก์ที่ 1 กับบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 4 เดือนละ1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกจากที่ดินพิพาทให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2491 โจทก์ที่ 1เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5129 โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายสุนทร กล้าหาญ ที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ โดยโจทก์ที่ 1ซื้อที่ดินพิพาทจากพันโทอวน รามโกมุทตั้งแต่ปี 2504 โจทก์ที่ 1ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ และลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขคำผิดและตกเติม 2 แห่ง ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า โจทก์ที่ 1มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินพิพาทหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของจำเลยทั้งห้าว่าโจทก์ที่ 1 ได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทแทน ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.6 จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 5 ก็เป็นการกระทำโดยชอบเช่นกัน โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายและการจำนอง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อต่อไปมีว่าโจทก์ที่ 2 จะขอให้เพิกถอนการขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1กับจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 เป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันตั้งแต่วันที่2 กุมภาพันธ์ 2491 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2504ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส อันเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมา แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์ที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 มาตรา 1476 จะบัญญัติไว้ว่า “นอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน” และมาตรา 1480 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้” ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติให้ใช้บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติ บรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้” ดังนั้น การใช้บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 7 ดังกล่าวเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาก่อนสมรสให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการสินบริคณห์หรือให้จัดการร่วมกับโจทก์ที่ 1 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 จึงยังคงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม มาตรา 1468ที่ดินพิพาทมิใช่สินเดิมของโจทก์ที่ 2 หรือสินสมรสที่โจทก์ที่ 2ได้มาโดยการยกให้หรือทางพินัยกรรมและการจำหน่ายที่ดินพิพาทมิใช่เป็นการยกให้โดยเสน่หา โจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 2 ก่อน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1473 เดิมนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ที่ 2 ไม่อาจที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อสุดท้ายของโจทก์ที่ 1 มีว่าจำเลยที่ 4 ได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยโจทก์ที่ 1 ฎีกาว่าที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 4 ไม่มีสิทธิให้โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้นว่า โจทก์ที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยชอบ เมื่อจำเลยที่ 4บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป การที่โจทก์ที่ 1 ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด ทำให้จำเลยที่ 4 เสียหายจำเลยที่ 4 จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 1 ได้ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมาเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ที่ 2ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความกับจำเลยที่ 1ทั้งสองสำนวนโดยไม่แยกเป็นรายสำนวนไม่ถูกต้อง เพราะสำนวนที่สองโจทก์ที่ 2 มิได้เป็นคู่ความ จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยทั้งห้าในสำนวนแรก โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท และให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 4 ในสำนวนที่สอง โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาทให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาในสำนวนแรกรวม 2,500 บาท แทนจำเลยทั้งห้า และให้โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาในสำนวนที่สองรวม 2,500 บาท แทนจำเลยที่ 4

Share