แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์ชนรถจักรยานสองล้อเป็นเหตุให้บุตรโจทก์ที่ 1 ตาย และโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรอีกคนหนึ่งบาดเจ็บเมื่อโจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ด้วย ก็ต้องแยกทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนออกจากกันเมื่อจำนวน ทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 50,000 บาท ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. ม.248
ย่อยาว
โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาเด็กหญิงเกศราวรรณผู้ตาย โจทก์ที่ 2 เป็นผู้เยาว์และเป็นบุตรโจทก์ที่ 1 ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์ชนรถจักรยานเป็นเหตุให้เด็กหญิงเกศราวรรณตาย โจทก์ที่ 2 บาดเจ็บ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย44,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นเงิน 41,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “แม้มารดาจะฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของตนก็ตาม ย่อมถือว่าเป็นการฟ้องแทนโจทก์ที่ 2 จึงต้องแยกทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนออกจากกัน เมื่อพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลย โดยรวมค่าซ่อมรถและดอกเบี้ยเข้าด้วยกันแล้ว ปรากฏว่าจำนวนทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนไม่เกินห้าหมื่นบาท คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 6 ฎีกาของจำเลยล้วนแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย คืนค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลย