คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6030/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อความตอนต้นในหนังสือแสดงเจตนาชำระหนี้แทน ก.จะกล่าวเท้าความถึงหนี้ของ ก. ที่โจทก์ค้ำประกันว่า เป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน แต่ตอนต่อมาโจทก์ได้ตกลงยินยอมชำระหนี้ที่ ก. มีต่อจำเลยที่ 1 ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังยินยอมให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนพันธบัตรที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้นำเงินมาชำระหนี้ของ ก. ทั้งหมดโดยมิได้กำหนดเงื่อนไขความรับผิดไว้ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ทราบแล้วว่าขณะนั้น ก. เป็นหนี้จำเลยที่ 1 เกินวงเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของ ก. ที่มีต่อจำเลยที่ 1 โดยสิ้นเชิง หาใช่ยอมรับผิดเพียงไม่เกินวงเงินตามสัญญาค้ำประกันไม่ แม้ในชั้นพิจารณาโจทก์จะเบิกความว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือแสดงเจตนาชำระหนี้แทน ก. โดยสำคัญผิด แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี เป็นเรื่องนอกประเด็นถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของนางกนกรัตน์กับจำเลยที่ 1 โดยมอบพันธบัตรของโจทก์ให้จำเลยที่ 1ไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หักเงินตามพันธบัตรดังกล่าวชำระหนี้เกินกว่าวงเงินตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน 51,831.29 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่จำเลยที่ 1 จ่ายเงินจำนวน 50,000 บาทให้แก่นางกนกรัตน์เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2533 นั้น เป็นการจ่ายเงินในระหว่างที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางกนกรัตน์และสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ยังมีผลบังคับอยู่ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2533 โจทก์มีหนังสือแสดงเจตนายอมรับผิดร่วมกับนางกนกรัตน์ชำระหนี้ที่นางกนกรัตน์มีต่อจำเลยที่ 1 โดยสิ้นเชิงอีกด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของนางกนกรัตน์ซึ่งทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 800,000 บาท และสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 70,000 บาท กับจำเลยที่ 1 สาขารามอินทรา โดยมอบพันธบัตรรัฐบาลให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมานางกนกรัตน์ผิดนัดชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ทวงถามให้โจทก์ชำระโจทก์ได้ไปติดต่อจำเลยที่ 1 และทำหนังสือตามเอกสารหมาย ล.1แสดงเจตนาชำระหนี้แทนนางกนกรัตน์ โดยก่อนทำหนังสือดังกล่าวพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า นางกนกรัตน์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 จำนวน 900,000 บาทเศษ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1ได้หักเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรของโจทก์ชำระหนี้ ศาลฎีกาพิจารณาข้อความในเอกสารหมาย ล.1 แล้ว เห็นว่า ถึงแม้ข้อความตอนต้นจะกล่าวเท้าความถึงหนี้ของนางกนกรัตน์ที่โจทก์ค้ำประกันว่าเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 800,000 บาท และหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 70,000 บาท แต่ตอนต่อมาโจทก์ได้ตกลงยินยอมชำระหนี้ที่นางกนกรัตน์มีต่อจำเลยที่ 1 ทั้งหมดโดยสิ้นเชิงอีกทั้งยังยินยอมให้จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนพันธบัตรที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้นำเงินมาชำระหนี้ของนางกนกรัตน์ทั้งหมดโดยมิได้กำหนดเงื่อนไขความรับผิดไว้แต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่โจทก์ทราบแล้วว่าขณะนั้นนางกนกรัตน์เป็นหนี้จำเลยที่ 1 มีจำนวนถึง900,000 บาทเศษ เกินวงเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของนางกนกรัตน์ที่มีต่อจำเลยที่ 1โดยสิ้นเชิงหาใช่ยอมรับผิดเพียงไม่เกินวงเงินตามสัญญาค้ำประกันไม่
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อที่ว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.1 โดยสำคัญผิด เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น โดยโจทก์เบิกความถึงเรื่องดังกล่าวไว้ในชั้นพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงแม้ในชั้นพิจารณาโจทก์จะเบิกความว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย ล.1 โดยสำคัญผิดแต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีเป็นเรื่องนอกประเด็น ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share