แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ศาลจะมิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม แต่ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ หากผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองหรือทำประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมมีความผิด การที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุโดยไม่มีเหตุจะอ้างโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีผลต่อการรักษาสภาพป่าไม้ของป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุจึงชอบด้วยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 แล้ว มิฉะนั้น ผู้ที่ศาลมิได้พิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิดเพราะขาดเจตนากระทำความผิดก็จะสามารถอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติหรือป่าได้ทั้งที่ไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่จะอยู่ได้
ย่อยาว
คดีทั้งเก้าสำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณารวมกับคดีหมายเลขแดงที่ 294/2559 โดยให้เรียกโจทก์ทุกสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งเก้าสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 6 ก่อนสืบพยานจำเลยที่ 6 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกสำนวนของจำเลยที่ 6 ออกไปพิจารณาและมีคำพิพากษาแล้ว ส่วนคดีทั้งเก้าสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54, 72 ตรี พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31 กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 10 กับบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ และเพิ่มโทษจำเลยที่ 7 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 10 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 10 พร้อมทั้งบริวารออกจากเขตป่าและป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 10 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 10 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย และจำเลยที่ 3 และที่ 7 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาตให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 7 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 โดยเห็นว่าขาดเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 ว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 พร้อมทั้งบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลจะมิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม แต่ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ หากผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองหรือทำประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมมีความผิด การที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุโดยไม่มีเหตุจะอ้างโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีผลต่อการรักษาสภาพป่าไม้ของป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุจึงชอบด้วยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 แล้ว มิฉะนั้นผู้ที่ศาลมิได้พิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิดเพราะขาดเจตนากระทำความผิดก็จะสามารถอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติหรือป่าได้ทั้งที่ไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่จะอยู่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 พร้อมบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุจึงชอบแล้ว ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 ในข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน