คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 603/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุระยะเวลาที่เป็นอายุความตามข้อต่อสู้ไว้แต่ ป.พ.พ. บัญญัติเรื่องอายุความรับผิดในการรอนสิทธิไว้ในลักษณะซื้อขายมาตรา 481 เพียงมาตราเดียว โดยกำหนดอายุความไว้สามเดือน ตามคำให้การของจำเลยจึงพอถือได้ว่าจำเลยต่อสู้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความในเรื่องความรับผิดในการรอนสิทธิตามนัยกฎหมายดังกล่าวแล้ว การที่จะนำอายุความสามเดือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 481 มาใช้บังคับนั้นข้อเท็จจริงต้องได้ความว่าโจทก์ได้ประนีประนอมยอมความคืนทรัพย์ให้แก่บุคคลภายนอกหรือยอมคืนทรัพย์ให้ตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง การที่รถยนต์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเนื่องจากเป็นรถยนต์ของผู้อื่นที่ถูกลักมาจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ความรับผิดของจำเลยผู้ขายจึงไม่ตกอยู่ในบังคับอายุความมาตรา 481 แต่ต้องตกอยู่ในอายุความทั่วไปตามมาตรา 164.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2525 จำเลยขายรถยนต์บรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน 80-0896 ปราจีนบุรีให้แก่โจทก์ในราคา 142,000บาท ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2526 เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์คันดังกล่าวไปจากโจทก์ อ้างว่าเป็นรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน10-7316 กรุงเทพมหานคร ของผู้อื่นที่ถูกลักไป การที่จำเลยปกปิดใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงนำรถยนต์ที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาขายให้แก่โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 142,000 บาท ให้แก่จำเลยเงินดังกล่าวจึงเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์นอกจากนั้นโจทก์ได้ซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าวหลายรายการเป็นเงิน65,000 บาท และต้องว่าจ้างรถยนต์ผู้อื่นขนข้าวเปลือกเข้าโรงสีของโจทก์ในระหว่างที่รถยนต์ถูกยึดเดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา8 เดือน เป็นเงิน 80,000 บาท โจทก์ขอคิดค่าซ่อมแซมรถยนต์และค่าเช่ารถบรรทุกรวมกัน เป็นเงินเพียง 108,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยตกลงขายและโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-0896 ปราจีนบุรี ให้โจทก์ ไม่เคยรับเงินใด ๆ จากโจทก์โจทก์ถูกรอนสิทธิเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2526แต่โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดคดีโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้เงินให้โจทก์จำนวน 182,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชดใช้ให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ว่าคดีขาดอายุความหรือไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ และคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น พิเคราะห์แล้วคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายรถยนต์ให้โจทก์ ต่อมาปรากฏว่ารถยนต์คันที่ซื้อขายกันเป็นรถยนต์ของผู้อื่นที่ถูกคนร้ายลักไป เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ยึดรถยนต์ไปจากโจทก์ ขอให้จำเลยใช้ราคารถยนต์พร้อมด้วยค่าเสียหายจำเลยให้การว่า โจทก์ถูกรอนสิทธิเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2526 แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วเห็นว่าแม้คำให้การของจำเลยจะไม่ระบุระยะเวลาที่เป็นอายุความตามข้อต่อสู้ไว้ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็บัญญัติเรื่องอายุความรับผิดในการรอนสิทธิ์ไว้ในลักษณะซื้อขาย มาตรา 481 เพียงมาตราเดียว โดยกำหนดอายุความไว้สามเดือน ตามคำให้การของจำเลยจึงพอถือได้ว่า จำเลยต่อสู้ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความในเรื่องความรับผิดในการรอนสิทธิตามนัยกฎหมายดังกล่าวแล้วที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยในส่วนนี้มิได้แสดงให้แจ้งชัดไม่ก่อให้เกิดประเด็นแห่งคดีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้นแต่อย่างไรก็ตาม การที่จะนำอายุความสามเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 481 มาใช้บังคับตามที่จำเลยฎีกานั้น ข้อเท็จจริงต้องได้ความว่าโจทก์ได้ประนีประนอมยอมความยอมคืนรถยนต์ให้แก่บุคคลภายนอก หรือยอมคืนรถยนต์ให้ตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง การที่รถยนต์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเนื่องจากเป็นรถยนต์ของผู้อื่นที่ถูกลักมาจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง ความรับผิดของจำเลยผู้ขายจึงไม่ตกอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 481 แต่ต้องตกอยู่ในอายุความทั่วไปตามมาตรา 164 ซึ่งมีอายุความสิบปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยยังไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”
พิพากษายืน.

Share