คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6027/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ก่อนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันถูกฟ้องจำเลยเคยพา ว. พี่เขยสามีจำเลยที่ 2 ไปพบ ค. พนักงานสาขาพุนพินของธนาคารโจทก์เพื่อนำเงิน 5,000,000 บาท ไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองส่วนของจำเลยที่ 2 แต่ ค. ไม่รับชำระหนี้ เพียงแต่ไปพูดคุยกับทางธนาคารเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่าตนมิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้นั้นได้ และยังมิได้ขอปฎิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ไม่รับชำระหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 207

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์สาขาพุนพิน 2,9000,000 บาท กำหนดใช้คืนภายในวันที่ 21 ธันวาคม 2549 หากผิดนัดจำเลยที่ 2 ซึ่งยอมตนค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมกันยอมรับผิดใช้เงินแทน ทั้งยังจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6941 เป็นประกันการชำระหนี้ 3,900,000 บาท อีกชั้นหนึ่ง วันที่ 18 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2328 เป็นการประกันการชำระหนี้ 500,000 บาท วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 จึงทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์อีก 500,000 บาท กำหนดใช้คืนภายในวันที่ 21 ธันวาคม 2539 เช่นกัน และหากผิดนัดจำเลยที่ 3 ซึ่งยอมตนค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมกันยอมรับผิดใช้เงินแทน พร้อมกับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 37166 เป็นประกันการชำระหนี้ 700,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงิน 684,450 บาท ให้แก่บริษัททิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นค่ายางแอสฟัลต์ในวันที่ 20 เมษายน 2539 ในที่ทำการของโจทก์สาขาพุนพิน โดยขอให้โจทก์เป็นผู้รับอาวัล จำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินในวันถึงกำหนด โจทก์จึงใช้เงินไปตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินคืนแก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีจดหมายบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ต่างๆ ดังกล่าวรวมทั้งเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินซึ่งจำนองที่โจทก์ชำระแทนภายในเวลาอันสมควรเพื่อบังคับจำนอง แต่จำเลยทั้งสามละเลยเสียไม่ปฎิบัติตามคำบอกกล่าวนั้น ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 5,443,392.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19.5 ต่อปีในต้นเงิน 4,091,585 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีในต้นเงิน 684,450 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,459 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 4,063,394.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19.5 ต่อปีในต้นเงิน 3,402,674.45 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 514 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 1,506,115.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 19.5 ต่อปีในต้นเงิน 565,428.57 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีในต้นเงิน 684,450 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 745 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามบิดพลิ้ว ให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่เท่าใด ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเหล่านั้นออกขายทอดตลาดใช้หนี้จนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เคยติดต่อขอชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ที่สาขาพุนพินของโจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่รับชำระหนี้นั้นโดยอ้างว่าสามารถบังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ได้เต็มจำนวน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 และที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์โดยจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ แต่มิได้เป็นหนี้อยู่ก่อนทำสัญญาดังกล่าวและมิได้เป็นหนี้ตามฟ้อง ทั้งไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวให้ชำระหนี้ โจทก์คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,713,667.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15.25 ต่อปีในต้นเงิน 3,816,698.61 บาท นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้หักเงิน 50,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2539 ออกจากต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวนนั้นและให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีในต้นเงิน 684,450 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 1,459 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ด้วย ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,403,229.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15.28 ต่อปี ในต้นเงิน 3,402,674.45 บาท นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2539 และชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 514 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งสองจำนวนนั้นเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,461,842.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15.25 ต่อปีในต้นเงิน 565,428.57 บาท นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2539 และชำระดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีในต้นเงิน 684,450 บาทกับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 945 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้ทั้งสองจำนวนนั้นเสร็จแก่โจทก์ โดยยอดหนี้ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ดังกล่าวต้องไม่เกินจำนวนที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิด หากจำเลยทั้งสามบิดพลิ้ว ให้เอาทรัพย์สินซึ่งแต่ละคนจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ถ้าได้เงินน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่เท่าใด ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเหล่านั้นบังคับชำระหนี้จนกว่าจะครบถ้วน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นายนิคม สุวรรณประเสริฐ ทายาทของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 รวมทั้งหนี้ที่โจทก์เป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.13 แล้วไม่ชำระหนี้คืน โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายโจทก์มีจดหมายบอกเลิกสัญญาและเตือนให้จำเลยที่ 1 ตลอดจนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นทั้งผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.32, จ.33, จ.34 และจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้คืนตามเอกสารหมาย จ.16, จ.18, จ.21 ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นรายบุคคลตามเอกสารหมาย จ.37, จ.39 และ จ.41 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาฉบับดังกล่าว….. ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อต่อไปของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 2 อ้างตนเองและนายนิคมสามีเป็นพยานเบิกความว่าก่อนถูกฟ้องเคยพานายวิมลพี่เขยสามีไปพบนายคนึง พนักงานสาขาพุนพินของโจทก์เพื่อนำเงิน 5,000,000 บาท ที่นายวิมลได้มาจากธุรกิจก่อสร้างและจัดสรรที่ดินขาย ไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองส่วนของจำเลยที่ 2 แต่นายคำนึงไม่รับชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 2 กลับตอบคำถามค้านว่าวันนั้นเพียงแต่ไปพูดคุยกับทางธนาคารเท่านั้น ไม่ได้เตรียมหลักฐานไปติดต่อขอชำระหนี้ และไม่เห็นเงินจำนวน 5,000,000 บาทนั้น นายนิคมก็ตอบคำถามค้านรับข้อเท็จจริงว่าเพียงแต่พูดคุยกัน นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ก็มิได้นำนายคำนึงกับนายวิมลมาสืบให้เห็นประจักษ์พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงเลื่อนลอย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่าตนมิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้นั้นได้ และยังมิได้ขอปฎิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ไม่รับชำระหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207 ดังที่กล่าวอ้างในฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว ฎีกาทั้งสองข้อของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share