คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6025/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของถือเอาผลสำเร็จของงานคือการดำเนินคดีหรือทำหน้าที่ทนายความตั้งแต่ตระเตรียมคดีและว่าต่างหรือแก้ต่างในศาลไปจนคดีถึงที่สุดและการจ่ายสินจ้างต้องถือเอาความสำเร็จของผลงานหรือจ่าย สินจ้างตามที่ตกลงกันไว้ แม้สัญญาจ้างระบุว่า “ผู้ว่าจ้างจะไม่ถอนทนายหรือผู้แทนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หากมีการถอนทนายก่อนคดีถึงที่สุด ผู้ว่าจ้างตกลงที่จะชำระค่าสินจ้างให้เต็มตามจำนวนในสัญญาจ้างนี้” ก็ไม่ใช่ข้อสัญญาที่ผูกมัดตัดทอนเสรีภาพของผู้ว่าจ้างเพราะมิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้ผู้ว่าจ้างถอนทนายเพียงแต่มีเงื่อนไขว่าหากถอนทนายผู้ว่าจ้างก็ยังต้องชำระค่าสินจ้างให้ผู้รับจ้างเต็มจำนวนในสัญญาเท่านั้น ข้อตกลงนี้จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่การที่ผู้ว่าจ้างได้ถอนทนายก่อนคดีถึงที่สุดเช่นนี้ถือว่าผู้ว่าจ้างใช้สิทธิเลิกสัญญาในระหว่างที่การที่ว่าจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จซึ่งผู้ว่าจ้างต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานนั้น ๆ รวมทั้งต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นให้แก่ผู้รับจ้างด้วย ข้อตกลงที่ว่าหากมีการถอนทนายก่อนคดีถึงที่สุดผู้ว่าจ้างยอมใช้ค่าสินจ้างเต็มจำนวนเท่ากับเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้าทำนองเบี้ยปรับหากสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้เป็นทนายความดำเนินคดีแก่นายบุญเลิศซึ่งมีข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับจำเลยตกลงให้สินจ้างเป็นเงิน 500,000 บาท โดยมีข้อสัญญาว่าแม้จำเลยจะถอนทนาย จำเลยจะชำระสินจ้างดังกล่าวแก่โจทก์เต็มจำนวน ต่อมาในวันนัดสืบพยานจำเลยในคดีดังกล่าว จำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนโจทก์จากการเป็นทนายความ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันที่จำเลยถอนโจทก์จากการเป็นทนายความถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 572,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่อาจใช้บังคับได้ จำเลยถอนโจทก์จากการเป็นทนายความเพราะมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน โจทก์ได้ทำหน้าที่ทนายความก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยเป็นอย่างมาก โดยไม่ยอมฟ้องคดีอาญาจนเป็นเหตุให้คดีขาดอายุความ จำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์จำนวน20,000 บาท ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่เหมาะสมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ นับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2533 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2533 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นทนายความเพื่อดำเนินคดีเรื่องที่ดินกับนายบุญเลิศ มารัญพาล ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 500,000 บาท ปรากฎตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้ยื่นฟ้องนายบุญเลิศเรียกโฉนดที่ดินคืนพร้อมเรียกค่าเสียหายตามคดีหมายเลขดำที่11482/2533 ของศาลแพ่ง ระหว่างนัดสืบพยานจำเลยคดีดังกล่าวซึ่งนายบุญเลิศมีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยได้ยื่นคำร้องขอถอนโจทก์จากการเป็นทนายความ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาข้อแรกว่าสัญญาจ้างโจทก์ที่มีข้อตกลงว่าแม้จำเลยจะถอนโจทก์จากการเป็นทนายความ จำเลยต้องจ่ายสินจ้างเต็มจำนวน 500,000บาท ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่เห็นว่า สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ซึ่งถือเอาผลสำเร็จของงานคือการดำเนินคดีหรือทำหน้าที่ทนายความตั้งแต่ตระเตรียมคดีและว่าต่างหรือแก้ต่างในศาลไปจนคดีถึงที่สุด และการจ่ายสินจ้างต้องถือเอาความสำเร็จของผลงานหรือจ่ายสินจ้างตามที่ตกลงกันไว้การที่สัญญาจ้างข้อ 3 แม้จะระบุว่า “ผู้ว่าจ้างจะไม่ถอนทนายหรือผู้แทนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หากมีการถอนทนายก่อนคดีถึงที่สุดผู้ว่าจ้างตกลงที่จะชำระค่าสินจ้างให้เต็มตามจำนวนในสัญญาจ้างนี้”ก็ไม่ใช่ข้อสัญญาที่ผูกมัดตัดทอนเสรีภาพของจำเลย เพราะมิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้จำเลยถอนทนายเพียงแต่มีเงื่อนไขว่าหากจำเลยถอนทนาย จำเลยก็ยังต้องชำระค่าสินจ้างให้โจทก์เต็มจำนวนในสัญญาเท่านั้น ข้อตกลงเช่นนี้จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยมีว่าจำเลยจะต้องใช้สินจ้างให้โจทก์เต็มจำนวน 500,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างหรือไม่เพียงใดนั้นเห็นว่า แม้ข้อตกลงของโจทก์จำเลยที่ว่าจำเลยจะไม่ถอนโจทก์จากการเป็นทนายก่อนคดีถึงที่สุด หากมีการถอนทนายก่อนคดีถึงที่สุด จำเลยตกลงที่จะชำระค่าสินจ้างให้เต็มจำนวน 500,000 บาท จะมีผลบังคับได้ตามสัญญาดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วก็ตาม แต่การที่จำเลยผู้ว่าจ้างได้ถอนโจทก์จากการเป็นทนายก่อนคดีถึงที่สุดเช่นนี้เป็นกรณีที่ถือได้ว่า จำเลยผู้ว่าจ้างได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาในระหว่างที่การที่ว่าจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 605 นั่นเองซึ่งตามปกติย่อมเกิดผลตามกฎหมายกล่าวคือในส่วนของการงานอันโจทก์ได้กระทำไปแล้วจำเลยผู้ว่าจ้างต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานนั้น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม รวมทั้งต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นให้แก่โจทก์ผู้รับจ้างด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605ดังนั้นการที่โจทก์จำเลยได้ทำความตกลงกันเป็นพิเศษว่า หากมีการถอนทนายก่อนคดีถึงที่สุด จำเลยยอมใช้ค่าสินจ้างเต็มจำนวน500,000 บาท เช่นนี้ ย่อมเท่ากับเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับนั่นเอง ซึ่งหากจำนวนเงินเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 คดีนี้เมื่อพิเคราะห์ถึงการงานที่โจทก์ได้กระทำไปประกอบทางได้เสียของโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่า เบี้ยปรับรวมกับค่าแห่งการงานควรเป็นเงิน 200,000 บาท ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชำระสินจ้างค่าว่าความแก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาทนั้น เป็นการเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของโจทก์และจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันใดนั้นเห็นว่า เงินค่าจ้างว่าความเป็นหนี้เงินตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ผู้รับจ้างทวงถามให้ชำระ จำเลยผู้ว่าจ้างไม่ชำระ จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 โจทก์ได้ทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้ภายใน 7 วันนับแต่ได้รับหนังสือจำเลยลงชื่อรับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 29พฤศจิกายน 2533 จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 7ธันวาคม 2533 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่7 ธันวาคม 2533 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น สรุปแล้วฎีกาของโจทก์และจำเลยต่างฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share