แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีส่วนอาญาข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาทโดยขับเร็วล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายทั้งสองในช่องเดินรถของผู้ตายทั้งสอง คดีในส่วนแพ่งศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา กล่าวคือต้องฟังว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาท ที่ศาลในคดีส่วนอาญาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า ผู้ตายทั้งสองมีส่วนกระทำประมาทด้วย ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองเพราะไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีส่วนอาญา เป็นเพียงการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยให้เบาลง ดังนั้นในคดีส่วนแพ่งผู้ตายทั้งสองมีส่วนกระทำประมาทด้วยหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่เพียงใด จำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์
ผู้เสียหายที่มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เฉพาะในคดีอาญาเท่านั้นไม่มีผลถึงอำนาจฟ้องคดีแพ่ง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางปลื้ม ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,000 บาท และจำนวน 74,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละรายนับถัดจากวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณาศาลฎีกา จำเลยถึงแก่ความตาย นางปลื้ม ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกของนางสาววิมล ทายาทของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นพี่สาวและทายาทของนายวัชรินทร์ ผู้ตายที่ 1 โจทก์ที่ 2 เป็นบิดาของนายพรพิรม ผู้ตายที่ 2 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ผู้ตายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ มีนายสุวิทย์ ซ้อนท้าย และผู้ตายที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนศรีเชียงใหม่ – ท่าบ่อ จากทางอำเภอท่าบ่อมุ่งหน้าไปทางอำเภอศรีเชียงใหม่ เมื่อถึงที่เกิดเหตุถนนบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 39 ถึง 40 ซึ่งเป็นทางโค้ง จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 บ – 7545 กรุงเทพมหานคร สวนทางมาและด้วยความประมาทจำเลยขับรถด้วยความเร็วล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ทั้งสองคันในช่องเดินรถของผู้ตายทั้งสอง เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันได้รับความเสียหายและผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย ต่อมาพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา โดยมีนายสุวิทย์และโจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์ร่วม ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157, ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1897/2541 ของศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่ว่าผู้ตายทั้งสองมีส่วนในการประมาทเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญามีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดฐานละเมิด เรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูเพราะเหตุรถเฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษา คดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ในคดีส่วนอาญาข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาทโดยขับเร็วล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายทั้งสองในช่องเดินรถของผู้ตายทั้งสอง คดีในส่วนแพ่งศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา กล่าวคือ ต้องฟังว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาท ที่ศาลในคดีส่วนอาญาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่าผู้ตายทั้งสองมีส่วนกระทำประมาทด้วยนั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง เพราะไม่ใช่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญา เป็นเพียงการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยให้เบาลง ดังนั้น ในคดีส่วนแพ่งผู้ตายทั้งสองมีส่วนกระทำประมาทด้วยหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เพียงใด จำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองและจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ตายทั้งสองมีส่วนประมาทนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ผู้ตายทั้งสองมีส่วนประมาท จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีอำนาจฟ้องคดีนั้น เห็นว่า ผู้เสียหายที่มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจฟ้องเฉพาะในคดีอาญาเท่านั้น ไม่มีผลถึงอำนาจฟ้องคดีแพ่ง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ