คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 602/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นของ ส.กับล.และเจ้าของร่วมคนอื่นๆพ.ซึ่งเป็นบุตรของ ส. กับ ล. ปลูกบ้านอยู่บนที่พิพาท แสดงว่าเจ้าของร่วมคนอื่นไม่ได้ปล่อยให้ ล. ครอบครองแต่ผู้เดียว แม้ต่อมาล. จะอยู่ในที่พิพาทเพียงผู้เดียว ที่พิพาทก็ยังเป็นของเจ้าของร่วมทุกคน ถือว่า ล. ครอบครองแทนในฐานะเจ้าของร่วมเมื่อ ล. ตาย ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรก็ได้ไปซึ่งทรัพย์มรดกเพียงเท่าที่ ล. มีร่วมอยู่เท่านั้นคือเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมคนหนึ่งและครอบครองแทนผู้มีชื่อ ในโฉนด คนอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600การที่ผู้ร้องครอบครองที่พิพาทจึงไม่ใช่เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของตนเอง ผู้ร้องย่อมไม่ได้สิทธิในที่พิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 3095ตำบลหนองโสน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่นายลิ้มซึ่งเป็นบิดาผู้ร้อง และเมื่อประมาณ17 ปีมานี้ นายลิ้มได้ยกที่ดินทั้งแปลงให้ผู้ร้อง การยกให้ทั้งสองครังไม่ได้ทำเป็นหนังสือ ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่ผู้ร้องได้เข้าครอบครองทำกินในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมาด้วยความสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปีแล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านทั้งห้ายื่นคำคัดค้านว่า ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ไม่เคยยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายลิ้ม ผู้ร้องครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวเแฑาะส่วนของนายลิ้มที่มีอยู่เดิมเท่านั้น ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 3095ตำบลหนองโสน อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบตรงกันได้ความว่า ที่พิพาทโฉนดเลขที่ 3095 ตั้งอยู่ตำบลหนองโสนอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี มีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนด คือ (1) นางสาย มารดาผู้คัดค้านที่ 3 (2) นางใจมารดาผู้คัดค้านที่ 4 (3) นายตี๋ บิดาผุ้คัดค้านที่ 1 (4) นางจิต มารดาผู้คัดค้านที่ 2 (5) นางสอย ผู้คัดค้านที่ 5 (6) นางเสิม(7) นายลิ้ม บิดาผู้ร้อง (8) นางสาวเหี่ยง (9) เด็ดชายกิมเขียมรวม 9 คน ปรากฏตามโฉนดเอกสารหมาย ร.1 บุคคลทั้งเก้ารับมรดกจากนายเงิน นางบัว บิดามารดาเมื่อปี พ.ศ. 2473 นายลิ้ม บิดาผู้ร้องถึงแก่กรรมเมื่อปี พงศ. 2512 ผู้ร้องเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2487 ตามเอกสารหมาย ร.2 ที่พิพาทมีบ้านของนายลิ้มซึ่งต่อมาตกเป็นของผู้ร้อง 1 หลัง และบ้านของนายพู บุตรนางสาย 1 หลัง คดีคงมีปัญหาว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่ ผู้ร้องอ้างว่า ประมาณ 30 ปีมาแล้ว บรรดาผู้มีชื่ออีก 8 คน ในโฉนดยกที่ดินให้นายลิ้มบิดาผู้ร้องโดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ฝ่ายผู้คัดค้านโดยเฉพาะผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเป็นพี่นายลิ้มก็ยื่นคัดค้านว่าไม่ได้ยกให้ เห็นว่า ขณะเมื่อบิดามารดาตายบุคคลทั้งเก้าก็ไปลงชื่อรับมรดกต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แสดงว่าทุกคนก็รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสิทธิสำหรับที่ดินมีโฉนดต้องไปทำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน เมื่อการยกที่ดินให้นายลิ้มตามข้ออ้างของผู้ร้องไม่ได้ทำดังนี้ ทั้งมีผู้คัดค้านที่ 5คัดค้านด้วยว่าไม่เป็นความจริง และการที่นายพูบุตร นางสายยังเข้าไปปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาท ไม่ได้ปล่อยให้นายลิ้มครอบครองแต่ผู้เดียวจึงเชื่อว่าไม่ได้มีจเ้าของราวมคนใดต้องการยกที่ดินให้นายลิ้มเลย การที่นายลิ้มคงอยู่ในบ้านในที่พิพาทต่อมาแต่ผู้เดียวเพราะนายลิ้มแต่งงานหลังพี่น้องคนอื่น ๆ เท่านั้นที่ดินพิพาทจึงยังเป็นทรัพย์สินที่ผู้มีชื่อในโฉนดทุกคนมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่นายลิ้มครอบครองที่พิพาทต่อมาถือได้ว่าครอบครองที่พิพาทไว้แทนในฐานะเจ้าของร่วม โดยที่ที่พิพาทเป็นทรัพย์สินรวม เมื่อนายลิ้มตาย ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรก็ได้ไปซึ่งทรัพย์สินเพียงเท่าที่นายลิ้มมีร่วมอยู่เท่านั้น คือผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งและครอบครองแทนผู้มีชื่อในโฉนดคนอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1600 นายลิ้มจะยกทรัพย์สินให้ผู้ร้องมากกว่าที่นายลิ้มมีย่อมไม่ได้ เมื่อฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งและครอบครองทรัพย์สินทั้งหมดแทนผู้อื่นที่ปรากฏชื่อในโฉนด ผู้ร้องไม่ได้ครอบครองโดยอาศัยอำนาจของตนเอง ผู้ร้องย่อมไม่ได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ฎีกาผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.

Share