คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 291/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าโดยเป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของโดยตรง ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการออกใบตราส่งเท่านั้น แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันขนส่งสินค้าโดยมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการออกใบตราส่ง แต่การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ตัวการร่วมขนส่งสินค้ากับจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจถือว่าเป็นการวินิจฉัยหรือพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ว่าคดีรับฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์ในคำฟ้องหรือไม่เท่านั้น
จำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งเป็นผู้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้า ได้ขนส่งตู้สินค้าที่บรรจุสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางและส่งมอบตู้สินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยชอบแล้ว หน้าที่ดูแลสินค้าของจำเลยที่ 2 ย่อมสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 40 (3) จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการสูญหายของสินค้าที่เกิดขึ้นในขณะที่สินค้าอยู่ในความอารักขาของการท่าเรือแห่งประเทศไทย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยคิดคำนวณถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 4,429,810.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จทุนทรัพย์เฉพาะส่วนที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงมีเพียง 2,886,660.22 บาท โจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน 72,167.50 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนและมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศราชอาณาจักรสวีเดน ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลหาผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 และใช้สำนักงานของจำเลยที่ 2 ในกรุงเทพนครเป็นสถานที่ประกอบกิจการบางส่วนเกี่ยวกับการขนส่งภายใน 2 ปี ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนที่ประเทศมาเลเซีย โดยใช้สำนักงานของจำเลยที่ 5 เป็นสถานที่ติดต่อและดำเนินการเกี่ยวกับการขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2536 และวันที่ 1 ตุลาคม 2537 โจทก์ได้ทำสัญญารับประกันภัยทางทะเลแบบเปิดไว้กับองค์การเภสัชกรรมสำหรับการขนส่งสินค้าจากทั่วโลกมายังกรุงเทพมหานคร และสืบเนื่องมาจากกรมธรรม์ประกันภัยแบบเปิดดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2537 และวันที่ 24 ตุลาคม 2537 โจทก์ได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลให้ไว้แก่องค์การเภสัชกรรม เพื่อรับประกันภัยสินค้าวัตถุดิบเคมีภัณฑ์ฟีน็อกซี่เมทิล เพ็นนิซิลลิน โปแตสเซี่ยม สำหรับผสมอัดเม็ดยาบีพี 80 บรรจุในถังไฟเบอร์ ซึ่งขนส่งเที่ยวละ 400 ถัง หนักถังละ 25 กิโลกรัม บรรจุในตู้สินค้าเที่ยวละ 1 ตู้ จากเมืองโกเต้นเบอร์กประเทศราชอาณาจักรสวีเดนมายังกรุงเทพมหานคร โดยเรือเดินทะเลชื่อ เอ็นแอลแอล โอเชียนเนีย รวม 2 เที่ยว ในวงเงินประกันภัยจำนวน 11,522,908 บาท สำหรับสินค้าเที่ยวแรก และจำนวน 11,444,864.40 บาท สำหรับสินค้าเที่ยวหลัง โดยสินค้าดังกล่าวองค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อมาจากบริษัทจิสท์-โบรเคดส์ เอบี จำกัด แห่งประเทศราชอาณาจักรสวีเดน ผู้ส่งของ และผู้ส่งของได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวมาให้องค์การเภสัชกรรมผู้รับตราส่งในเงื่อนไขกรุงเทพ ซีวาย หมายถึง ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง ณ คลังสินค้าของผู้รับตราส่งที่ปลายทางในกรุงเทพมหานครเพื่อเปิดตู้สินค้าและส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จัดหาตู้สินค้าหมายเลข เอ็มไอเอสยู 5106694 สำหรับการขนส่งเที่ยวแรก และตู้สินค้าหมายเลขเอ็มไอเอสยู 514610-4 สำหรับการขนส่งเที่ยวหลัง มอบให้ผู้ส่งของ ณ เมืองต้นทางเพื่อบรรจุสินค้าแล้วซีลหรือผนึกประตูตู้สินค้าด้วยแถบเหล็กที่มีหมายเลขกำกับอีกชั้นหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับตู้สินค้าและนำสินค้าแต่ละเที่ยวบรรทุกลงเรือแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ออกใบตราส่งชนิดบรรทุกลงเรือแล้ว มอบให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐาน ซึ่งองค์การเภสัชกรรมก็ได้ชำระค่าสินค้าสำหรับการขนส่งสินค้าในแต่ละเที่ยวให้แก่ผู้ส่งของโดยวิธีขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านทางธนาคารตามวิธีการค้าระหว่างประเทศ แล้วผู้ส่งของได้โอนใบตราส่งสำหรับสินค้าในแต่ละเที่ยวพร้อมเอกสารทางการค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบกำกับสินค้า ใบกำกับหีบห่อ มาให้องค์การเภสัชกรรมต่อมาเมื่อเรือเดินทะเลเอ็นแอลแอล โอเชียนเนีย บรรทุกสินค้าดังกล่าวเดินทางจากประเทศราชอาณาจักรสวีเดนมาถึงประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ในแต่ละเที่ยวแล้วได้ขนถ่ายตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าลงเรือเดินทะเลลำใหม่ชื่อนันทภูมิ อันเป็นการขนส่งช่วงที่ท่าเรือในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์โดยผู้ส่งของและผู้รับตราส่งไม่ได้ยินยอมรับรู้มาก่อน การขนส่งช่วงดังกล่าวมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งโดยจำเลยที่ 4 ได้ออกใบตราส่งระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งของและจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับตราส่ง เพื่อให้จำเลยที่ 3 ส่งมอบสินค้าให้องค์การเภสัชกรรมอีกต่อหนึ่ง โดยใบตราส่งดังกล่าวกำหนดให้เรียกเก็บค่าระวางจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเรือนันทภูมิได้บรรทุกสินค้าเดินทางถึงท่าเรือกรุงเทพเที่ยวแรกเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 และเที่ยวหลังเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 แล้วจำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ขนถ่ายตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าในแต่ละเที่ยวไปฝากไว้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยแทนที่จะนำไปส่ง ณ คลังสินค้าขององค์การเภสัชกรรมตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญารับขนของทางทะเล องค์การเภสัชกรรมผู้รับตราส่งจึงเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ส่งมอบสินค้าโดยได้เวนคืนใบตราส่งให้ จากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้ออกใบสั่งปล่อยสินค้าเพื่อให้ผู้รับตราส่งไปทำพิธีการศุลกากรและขอรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2537 และวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้เปิดตู้สินค้าเพื่อส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งตามลำดับ ปรากฏว่าสินค้าสูญหายไปจำนวน 90 ถัง สำหรับการขนส่งเที่ยวแรก และสูญหายไปจำนวน 60 ถัง สำหรับการขนส่งเที่ยวหลัง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากมีการลักลอบเปิดตู้สินค้าระหว่างการขนส่งหรือลักทรัพย์ไปโดยมีการเปลี่ยนซีลที่ผนึกประตูตู้สินค้าเป็นกุญแจสายยูสำหรับการขนส่งเที่ยวแรก และเปลี่ยนซีลที่ประตูตู้สินค้าเป็นซีลหมายเลขอื่นสำหรับการขนส่งเที่ยวหลัง โดยความสูญหายได้เกิดขึ้นในขณะที่สินค้าอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นผู้ขนส่งและผู้ขนส่งมิได้ใช้ความระมัดระวังในการยกขน เคลื่อนย้าย เก็บรักษาดูแลและขนถ่ายสินค้าและเกิดจากการทุจริตลักสินค้าไปจากตู้สินค้าหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งห้าหรือลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยทั้งห้า จำเลยทั้งห้าประกอบกิจการรับขนของทางทะเลโดยมีบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติของตนและร่วมกันดำเนินการขนส่งสินค้าดังกล่าว จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่สูญหายรวมจำนวน 150 ถัง รวมเป็นเงินจำนวน 4,309,383.96 บาท องค์การเภสัชกรรมได้เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งห้าแล้ว แต่จำเลยทังห้าเพิกเฉยโจทก์จึงชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแทนไปเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2538 และได้รับช่วงสิทธิจากองค์การเภสัชกรรมสำหรับเงินจำนวนดังกล่าว โจทก์ได้ทวงถามให้ฝ่ายจำเลยชดใช้แล้ว แต่ฝ่ายจำเลยเพิกเฉย จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่องค์การเภสัชกรรม จนถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน 120,429.94 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 4,429,810.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน จำนวน 4,309,383.96 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 การขนส่งสินค้าดังกล่าวเป็นการขนส่งในระบบตู้สินค้าเงื่อนไข ซีวาย/ซีวาย และชิปเปอ’ส โหลด สโตร์เวจแอนด์ เคาต์ หมายถึง ผู้ส่งของต้นทางเป็นผู้นำตู้สินค้าจากผู้ขนส่งไปบรรจุเรียงและนับสินค้าด้วยค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงภัยของตนเองแล้วปิดประตูรวมทั้งซีลหรือผนึกประตูตู้สินค้าเอง โดยผู้ขนส่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือทราบถึงจำนวนที่แท้จริงของสินค้า เพียงแต่ผู้ขนส่งจะออกใบตราส่งระบุรายละเอียดและจำนวนสินค้าตามที่ผู้ส่งของแจ้งให้ทราบ ผู้ขนส่งมีหน้าที่รับขนตู้สินค้าด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ชำรุดเสียหายและส่งมอบตู้สินค้าให้แก่การท่าเรือของประเทศปลายทางเท่านั้น ปรากฏว่าเรือเดินทะเลได้ขนส่งสินค้าดังกล่าวเดินทางมาถึงท่าเรือปลายทางที่กรุงเทพมหานครทั้งสองเที่ยว โดยตู้สินค้าและซีลที่ผนึกประตูตู้สินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่ชำรุดเสียหาย ผู้ขนส่งได้ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ณ ลานวางตู้สินค้าในสภาพเรียบร้อย อันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้บังคับอยู่ ณ ท่าเรือปลายทาง ทั้งนี้ โดยในระหว่างการขนส่งผู้ขนส่งได้ใช้ความระมัดระวังและรักษาดูแลรวมทั้งขนถ่ายตู้สินค้าเป็นอย่างดี ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งมิได้ทุจริตหรือจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ทำให้สินค้าสูญหาย และขณะส่งมอบตู้สินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ซีลที่ประตูตู้สินค้าก็ไม่ได้ถูกสับเปลี่ยนเป็นกุญแจสายยูหรือซีลอันใหม่ตามคำฟ้อง ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นภายหลัง การที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยยอมรับตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าไว้จึงเป็นไปไม่ได้ที่สินค้าจะสูญหายในระหว่างการขนส่งทางทะเล หากสินค้าไม่ครบจำนวนตามที่ระบุในใบตราส่งย่อมเป็นเรื่องที่ผู้ส่งของบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าไม่ครบจำนวนเอง หรือเกิดการสูญหายภายหลังจากที่ผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าให้อยู่ในความดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว และการที่องค์การเภสัชกรรมไปติดต่อกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยตรง โดยไม่มีการสำรวจหรือตรวจสอบสินค้าร่วมกับผู้ขนส่งและรับสินค้าไปโดยไม่อิดเอื้อน รวมทั้งไม่ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือแก่ผู้ขนส่งภายในหนึ่งวันนับแต่วันถัดจากวันรับมอบสินค้าว่ามีสินค้าสูญหายพร้อมทั้งแจ้งสภาพการสูญหาย จึงถือได้ว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าครบจำนวนตามที่ระบุในใบตราส่งแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ร่วมกันรับขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ออกใบตราส่งให้แก่บริษัท จิสท์-โบร เคดส์ เอบี จำกัด ผู้ขายหรือผู้ส่งของเท่านั้น ผู้ขนส่งสินค้าคดีนี้คือจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมขนส่งด้วย และจำเลยที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อแจ้งการมาถึงของสินค้าให้องค์การเภสัชกรรมทราบเท่านั้น จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนค่าเสียหายหากมีจริง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็รับผิดไม่เกินกว่าราคาที่แท้จริงของสินค้า คือ 2,000,000 บาท และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดก็ตามการขนส่งรายนี้เป็นการขนส่งในระบบตู้สินค้า ต้องถือว่าตู้สินค้าแต่ละตู้เป็นหน่วยการขนส่งตามกฎหมาย ดังนี้สินค้ามีจำนวน 2 ตู้จึงเป็น 2 หน่วยการขนส่ง หากผู้ขนส่งต้องรับผิดก็รับผิดเพียงหน่วยการขนส่งละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 20,000 บาท เท่านั้นขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่ใช่เจ้าของเรือที่ขนส่งสินค้าตามคำฟ้องทั้งสองเที่ยวและมิได้ร่วมรับขนส่งสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัทจิสท์-โบรเคดส์ เอบี จำกัด แต่จำเลยที่ 4 รับขนสินค้าให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ส่งของและมีผลผูกพันต่อผู้รับตราส่ง (จำเลยที่ 3) ตามกฎหมาย ตามใบตราส่งของจำเลยที่ 4 ซึ่งถือเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนส่งของทางทะเล มีข้อสัญญาที่ให้อิสระแก่ผู้ขนส่งในการถ่ายลำเรือได้โดยไม่ต้องแจ้งหรือขอความยินยอมจากผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่งก่อน การขนส่งสินค้าดังกล่าวเป็นการขนส่งในระบบตู้สินค้าเงื่อนไข ซีวาย/ซียายและชิปเปอร์’ส โหลด สโตร์เวจ แอนด์ เคาต์ สินค้าที่จำเลยที่ 4 รับขนไม่ชำรุดเสียหายและไม่มีการเปิดประตูตู้สินค้าระหว่างการขนส่งทางทะเล ทั้งการขนส่งทางทะเลก็ได้สิ้นสุดลงเมื่อผู้ขนส่งมอบตู้สินค้าไว้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว ส่วนตู้สินค้าได้ถูกเปิดโดยตัวแทนเรือหรือคนของผู้รับตราส่ง เพื่อนำสินค้าส่งเป็นตัวอย่างต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้นผู้รับตราส่งจะต้องควบคุมดูแลสินค้าและซีลประตูตู้สินค้าใหม่เองโดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งทราบ จำเลยที่ 5 เป็นเพียงตัวแทนเรือของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 5 มีหน้าที่เพียงรับแลกต้นฉบับใบตราส่งออกใบสั่งปล่อยสินค้า เพื่อให้ผู้รับตราส่งไปรับสินค้าออกจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเท่านั้น จำเลยที่ 5 มิได้กระทำในฐานะผู้ร่วมขนส่ง ไม่ได้แจ้งกำหนดเรือเข้าในราชอาณาจักรแก่ผู้รับตราส่ง ไม่ได้เป็นผู้ขออนุญาตนำเรือมาจอดในบริเวณท่าเรือ และขออนุญาตเปิดประตูตู้สินค้า รวมทั้งส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้รับตราส่ง และมิได้รับขนถ่ายสินค้าหรือส่งมอบสินค้าฝากไว้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยและมิได้มีส่วนได้เสียในค่าระวางขนส่ง จำเลยที่ 5 เพียงแต่รับค่าบำเหน็จตัวแทนจากจำเลยที่ 4 สินค้าที่สูญหายรวม 150 ถัง นั้นมีราคาไม่ถึงจำนวนตามที่โจทก์ฟ้อง และความรับผิดในค่าเสียหายของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต้องไม่เกินไปกว่าการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามกฎหมายคือ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่งหรือไม่เกินจำนวน 1,500,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการจัดหาตู้สินค้าและออกใบตราส่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องทางทะเลตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งอื่น ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 5 เป็นตัวแทนเรือของจำเลยที่ 2 และที่ 4 จำเลยที่ 4 ได้ขนส่งสินค้าดังกล่าวและส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ณ ท่าปลายทางถูกต้องตามขั้นตอนทุกประการจึงเป็นกรณีที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้บังคับอยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 40 (3) ความรับผิดของผู้ขนส่ง (จำเลยที่ 4 ) จึงสิ้นสุดลง สินค้าไม่ได้สูญหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 จะบอกปัดความรับผิดเช่นจำเลยที่ 4 ไม่ได้ เพราะการที่จำเลยที่ 2 ติดต่อให้จำเลยที่ 5 ดำเนินพิธีการทางศุลกากร เพื่อนำสินค้าออกไป หรือจ้างตัวแทนมาสำรวจความเสียหายหรือทำการขนสินค้าจากตู้สินค้าที่โรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปยังคลังสินค้าขององค์การเภสัชกรรม เป็นพฤติการณ์กระทำตามสัญญาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลในประเทศไทยกับองค์การเภสัชกรรม ส่อแสดงไปในทางความสำเร็จของงานอันหมายถึง ส่งสินค้าพิพาทจนถึงคลังสินค้าขององค์การเภสัชกรรมผู้รับตราส่ง ดังนี้ สินค้าจึงสูญหายไปขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากองค์เภสัชกรรม แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับราคาที่แท้จริงของสินค้าตามที่โจทก์ฟ้อง คงรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 โดยจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งเพียง 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง โดยหน่วยการขนส่งกรณีนี้ได้แก่ถัง ไม่ใช่ตู้สินค้าสินค้าสูญหายจำนวน 150 ถัง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินจำนาน 1,500,000 บาท และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยอื่นให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์เต็มตามคำฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้องทางทะเล ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการจัดหาตู้สินค้าและออกใบตราส่ง จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้(ร่วม)ขนส่งสินค้าหรือผู้ขนส่งสินค้าอื่น สินค้าไม่ได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งทางทะเล และไม่ได้สูญหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 4 ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยย่อมเป็นการมอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้บังคับอยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 40 (3) ความรับผิดของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นย่อมสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น แม้จะปรากฏว่าสินค้าถูกส่งถึงลานพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ติดต่อให้จำเลยที่ 5 ดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อนำสินค้าออกไป และจ้างตัวแทนมาสำรวจความเสียหายกับกระทำการขนสินค้าจากตู้สินค้าที่ลานพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปยังคลังสินค้าขององค์การเภสัชกรรมด้วยแรงงานของจำเลยที่ 2 เอง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่องค์การเภสัชกรรมให้เป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน ดังนั้นตราบใดที่สินค้าคงอยู่ในอารักขาของการท่าเรือแห่งประเทศไทยก็ย่อมถือว่าสินค้ายังอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 เมื่อสินค้าสูญหายไปในระหว่างนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความสูญหายดังกล่าว ส่วนความรับผิดในเรื่องค่าเสียหายนั้นศาลอุทธรณ์คงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดและถูกต้องแล้ว ส่วนการสูญหายของสินค้า เห็นว่า ไม่ใช่เกิดจากผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดเว้นกระทำโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดความสูญหายหรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดความเสียหายได้ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์เต็มตามคำฟ้อง
จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และได้มอบอำนาจให้นายสมพร สืบถวิลกุล ฟ้องคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนและมีสำนักงานอยู่ในประเทศราชอาณาจักรสวีเดนและใช้สำนักงานของจำเลยที่ 2 ในกรุงเทพมหานครเป็นสถานที่ประกอบกิจการขนส่งบางส่วน จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนและมีสำนักงานอยู่ในประเทศมาเลเซีย จำเลยที่ 4 ใช้สำนักงานของจำเลยที่ 5 ในประเทศไทยเป็นสถานที่ติดต่อและประกอบกิจการขนส่งบางส่วน ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศไทย ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียนเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2536 และวันที่ 1 ตุลาคม 2537 โจทก์ได้ทำสัญญารับประกันภัยสินค้าขององค์การเภสัชกรรมในประเภทสัญญาประกันภัยแบบเปิด เพื่อประกันภัยสินค้าที่องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อจากต่างประเทศทุกเที่ยวทุกจำนวนที่ขนส่งทางทะเลมายังกรุงเทพมหานครตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบปิด เอกสารหมาย จ.7 และ จ.20 และสืบเนื่องจากสัญญาประกันภัยแบบเปิดดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2537 และวันที่ 24 ตุลาคม 2537 โจทก์ได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยทางทะเลเฉพาะรายสินค้าให้ไว้แก่องค์การเภสัชกรรมตามลำดับเพื่อรับประกันภัยสินค้าวัตถุดิบเคมีภัณฑ์ ฟีน็อกซี่เมทิล เพนนิซิลิน โปแตสเซี่ยม สำหรับผสมอัดยาเม็ดบีพี 80 บรรจุในถังไฟเบอร์หนักถังละ 25 กิโลกรัม ขนส่งทางทะเลเที่ยวละ 400 ถัง จากเมืองโกเต็นเบอร์ก ประเทศราชอาณาจักรสวีเดนมายังกรุงเทพมหานคร รวม 2 เที่ยว ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.8 และ จ.21 โดยรับประกันภัยไว้ในวงเงินจำนวน 11,522,908 บาท และจำนวน 11,444,864.40 บาท ตามลำดับ สินค้าเคมีภัณฑ์หรือสินค้าตามคำฟ้องดังกล่าวองค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อมาจากบริษัทจิสท์-โบรเคดส์ เอบี จำกัด แห่งประเทศราชอาณาจักรสวีเดนซึ่งเป็นผู้ส่งของตามใบกำกับสินค้าและใบกำกับหีบห่อ เอกสาร จ.9 จ.10 จ.22 และ จ.23 การขนส่งสินค้าทั้งสองเที่ยวดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ใช้แบบพิมพ์ของจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งมอบให้แก่ผู้ส่งของสำหรับการขนส่งทั้งสองเที่ยวตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 เมื่อตู้สินค้าบรรจุสินค้าถูกขนส่งโดยเรือเดินทะเลชื่อ เอ็นแอลแอล โอเชียนเนีย จากประเทศราชอาณาจักรสวีเดนแต่ละเที่ยวไปยังท่าเรือของประเทศสาธารณรัฐสิงค์โปรได้ถูกขนถ่ายลงเรือลำใหม่ ชื่อ นันทภูมิ เพื่อขนส่งต่อมายังท่าปลายทางคือท่าเรือกรุงเทพ โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งช่วงทั้งสองเที่ยว และจำเลยที่ 4 ได้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.25 และ จ.26 ให้จำเลยที่ 1 โดยระบุชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับตราส่ง เมื่อสินค้าแต่ละเที่ยวถูกขนส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 ตามลำดับแล้ว ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าในแต่ละเที่ยวซึ่งบรรจุอยู่ในตู้สินค้าเที่ยวละ 1 ตู้ ไว้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย และจำเลยที่ 1 ได้จัดการเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยที่ 3 เป็นองค์การเภสัชกรรม ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2537 และวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 เจ้าหน้าที่องค์การเภสัชกรรมได้มาเปิดตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าแต่ละตู้ตามลำดับเพื่อรับสินค้าออกไปจากท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่เมื่อตรวจนับสินค้าร่วมกับตัวแทนของจำเลยที่ 2 แล้ว ปรากฏว่าสินค้าได้สูญหายไปจำนวน 90 ถัง สำหรับการขนส่งเที่ยวแรก และสูญหายไปจำนวน 60 ถัง สำหรับการขนส่งเที่ยวหลัง รวมเป็นสินค้าที่สูญหายทั้งสิ้น 150 ถัง โดยสินค้าได้สูญหายไปในขณะที่กรมธรรม์ประกับภัย เอกสารหมาย จ.8 และ จ.21 ยังมีผลใช้บังคับองค์การเภสัชกรรมได้เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 แล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้าดังกล่าวจึงชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 4,309,383.46 บาท ให้แก่องค์การเภสัชกรรมแทน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2538 และรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ ตามใบรับช่วงสิทธิเอกสารหมาย จ.19 และ จ.33 และคดีฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยที่โจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นและได้ดำเนินการขนส่งช่วงสินค้า รวมทั้งส่งมอบสินค้าไว้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยชอบแล้ว กับจำเลยที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นเพียงตัวแทนเรือไม่จำต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินค้าที่สูญหายให้แก่โจทก์ตามคำฟ้อง สำหรับข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ผู้ที่ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 ให้แก่ผู้ส่งของเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลคือจำเลยที่ 1 ไม่ใช่จำเลยที่ 2 ดังนั้น ผู้ที่เป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของจึงเป็นจำเลยที่ 1 ไม่ใช่จำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ขนส่งอื่นนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันขนสินค้าตามคำฟ้องทั้งสองเที่ยว จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า ในการขนส่งสินค้าคดีนี้จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งของเท่านั้น ส่วนผู้ที่ทำการขนส่งสินค้าคดีนี้ คือ จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 4 ด้วย เท่ากับว่าจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า ผู้ที่ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของคดีนี้ คือ จำเลยที่ 4 เพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 2 เพียงแต่เป็นผู้ออกใบตราส่งแทนจำเลยที่ 4 เท่านั้น ดังนี้ จำเลยที่ 2 จะฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ขนส่งอื่นเท่านั้นหาได้ไม่ เพราะถือได้ว่า เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมไม่รับวินิจฉัยให้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามคำฟ้องคดีนี้ทั้งสองเที่ยว โดยเป็นคู่สัญญาแห่งสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของโดยตรง ตามที่ระบุในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการออกใบตราส่งดังกล่าวเท่านั้น นอกจากนี้แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันขนส่งสินค้าตามคำฟ้องทั้งสองเที่ยวโดยมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการออกใบตราส่งดังกล่าว แต่การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ตัวการร่วมขนส่งสินค้าดังกล่าวกับจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจถือว่าเป็นการวินิจฉัยหรือพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามที่จำเลยที่ 2 ยกขึ้นอ้างมาในฎีกา เพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ว่าคดีรับฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์ในคำฟ้องหรือไม่เท่านั้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่าจำเลยที่ 2 ในฐานผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่สินค้าตามคำฟ้องสูญหายไปหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้ตามทางพิจารณาว่า ในการขนส่งสินค้าทั้งสองเที่ยวนั้น ตัวแทนของจำเลยที่ 2 คือจำเลยที่ 1 ได้จัดหาตู้สินค้าตู้แรกหมายเลข เอ็มไอเอ็สยู 5106694 สำหรับขนส่งเที่ยวแรกและตู้สินค้าตู้หลังหมายเลขเอ็มไอเอ็สยู 514610-4 สำหรับการขนส่งเที่ยวหลังมอบให้แก่บริษัทจิสท์-โบรเคดส์ เอบี จำกัด ผู้ส่งของ ณ เมืองต้นทางเพื่อบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าแล้วซีลหรือผนึกประตูตู้สินค้าด้วยแถบเหล็กที่มีหมายเลขกำกับไว้คือ ซีลหมายเลข 9447 สำหรับตู้สินค้าตู้แรกและหมายเลข 19463 สำหรับตู้สินค้าตู้หลังด้วยตนเอง แล้วลากตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าตู้แรกและตู้หลังไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ณ ท่าเรือเมืองโกเต็นเบอร์ก เพื่อจัดการบรรทุกลงเรือเอ็นแอลแอล โอเชียนเนีย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2537 และวันที่ 24 ตุลาคม 2537 ตามลำดับ และสืบเนื่องจากศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในทำนองว่า ขณะมีการส่งมอบตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าแต่ละตู้ไว้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้น ตู้สินค้าและซีลประตูตู้สินค้าอยู่ในสภาพเรียบร้อยถูกต้องดังเป็นมาแต่ต้นทาง สินค้าที่สูญหายทั้งสองจำนวนไม่ได้สูญหายขณะอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 และไม่ปรากฏว่าศาลทั้งสองได้วินิจฉัยว่า ผู้ส่งของบรรจุสินค้าเข้าไปในตู้สินค้าแต่ละตู้ไม่ครบจำนวนโดยความผิดของผู้ส่งของแต่ได้วินิจฉัยในทำนองว่าสินค้าที่สูญหายแต่ละจำนวนได้สูญหายไปในระหว่างอยู่ในความอารักขาของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเท่ากับว่าศาลล่างทั้งสองได้ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ส่งของได้บรรจุสินค้าเข้าไปในตู้สินค้าทั้งสองตู้ครบถ้วนตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 และสินค้าในตู้สินค้าแต่ละตู้ได้สูญหายไปในภายหลัง คดีนี้จำเลยที่ 2 เพียงแต่ฎีกาว่าผู้ส่งของเป็นผู้บรรจุเรียงและนับสินค้าแล้วซีลประตูตู้สินค้าเอง จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบจำนวนหรือปริมาณสินค้าในตู้สินค้าเท่านั้น โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์และฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไรเพราะเหตุใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองได้ว่า ผู้ส่งของได้บรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าทั้งสองตู้ถูกต้องครบถ้วนจำนวนที่ระบุใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 และสินค้าที่สูญหายทั้งสองจำนวนนั้นได้สูญหายไปในภายหลัง หลังจากที่จำเลยที่ 4 ส่งมอบตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าไว้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า สินค้าที่สูญหายไปจากตู้สินค้าในแต่ละตู้นั้น มิได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 2 โดยเรือเอ็นแอลแอล โอเชียนเนียและมิได้สูญหายไปในขณะขนถ่ายลำเรือที่ท่าเรือของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ หรือสูญหายไปในระหว่างการขนส่งช่วงของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นโดยเรือนันทภูมิ จากท่าเรือประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพ แต่สินค้านั้นได้สูญหายไปหลังจากจำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นได้ส่งมอบตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าทั้งสองตู้ให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว และคดีได้ความตามที่คู่ความนำสืบรับกันอีกว่าหลังจากจำเลยที่ 4 ส่งมอบตู้สินค้าแต่ละตู้ไว้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว ตู้สินค้าดังกล่าวแต่ละตู้ได้ถูกลากไปวางไว้ที่บริเวณลานพักตู้สินค้าหน้าโรงพักสินค้าที่ 16 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 และวันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 ตามลำดับ และสินค้าในตู้สินค้าทั้งสองตู้ได้สูญหายไปในระหว่างอยู่ในความอารักขาของการท่าเรือแห่งประเทศไทยก่อนที่เจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมผู้รับตราส่งพร้อมด้วยตัวแทนของจำเลยที่ 2 เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะร่วมกันมาเปิดตู้สินค้าตู้แรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2537 และตู้หลังเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2537 จึงมีข้อต้องพิจารณาต่อไปว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมผู้รับตราส่งจะรับมอบสินค้าไปจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั้น ถือได้หรือไม่ว่าสินค้ายังอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง เห็นว่า กรณีใดที่จะถือว่าสินค้าเข้ามาอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งและพ้นจากความดูแลของผู้ขนส่งนั้น พระราชบัญญัติการรับขนส่งของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 39 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ดังนี้ “เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง นับตั้งแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับนั้นไว้จากผู้ส่งของ หรือตัวแทนผู้ส่งของ หรือจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าต้นทางที่บรรทุกของลงเรือกำหนดให้ผู้ส่งของต้องมอบของที่จะขนส่งไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว จนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งมอบของนั้น ณ ท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทาง ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 40” และในมาตรา 40 ได้บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีดังต่อไปนี้ให้ถือว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบของซึ่งตนได้รับไว้แล้ว
(1) ผู้ขนส่งได้มอบของให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว
(2) ในกรณีที่ผู้รับตราส่งไม่มารับของจากผู้ขนส่ง ผู้ขนส่งได้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ของนั้นตามที่กำหนดไว้ในสัญญารับขนของทางทะเล หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับหรือประเพณีทางการค้าที่ถือปฏิบัติกันอยู่ ณ ท่าปลายทางแล้ว หรือ
(3) ผู้ขนส่งได้มอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆ ซึ่งกฎหมายหรือกฎหมายข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดให้ผู้ขนส่งต้องมอบของที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลดังกล่าว”คดีนี้ข้อเท็จจริงคงรับฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองโดยที่คู่ความมิได้อุทธรณ์และฎีกาคัดค้านว่า การที่จำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้ขนส่งตู้สินค้าทั้งสองตู้มายังท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทางได้ส่งมอบตู้สินค้าดังกล่าวไว้กับเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ณ ท่าปลายทางนั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ 4 ได้มอบของไว้กับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดๆซึ่งกฎหมายหรือกฎข้อบังคับที่ใช้อยู่ ณ ท่าปลายทางกำหนดไว้ตาม มาตรา 40 (3) แล้ว การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้ขนส่งตู้สินค้าบรรจุสินค้าตามคำฟ้องไปยังท่าปลายทางได้ส่งมอบตู้สินค้าทั้งสองตู้ดังกล่าวไว้กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงมีผลเท่ากับว่า จำเลยที่ 4 ได้ส่งมอบไว้ในนามของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งนั่นเอง จำเลยที่ 2 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจดูใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลที่จำเลยที่ 2 ออกให้แก่ผู้ส่งของแล้วปรากฏว่า ใบตราส่งทั้งสองฉบับในช่องผู้รับตราส่งระบุว่า ตามคำสั่งของธนาคารกรุงไทย จำกัด และในรายการละเอียดเกี่ยวกับสินค้าระบุไว้ด้วยว่า ซีเอฟอาร์กรุงเทพ (CFR BANGKOK) และตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 ในช่องสถานที่ส่งมอบสินค้าได้ระบุไว้ในเงื่อนไข “กรุงเทพ ซีวาย” ส่วนใบตราส่งเอกสารหมาย จ.24 ในช่องสถานที่ส่งมอบสินค้ามิได้ระบุชื่อสถานที่ส่งมอบสินค้าไว้จึงมีข้อต้องพิจารณาต่อไปว่า ตามใบตราส่งดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงรับขนสินค้าไปส่งมอบให้แก่องค์การเภสัชกรรมผู้รับตราส่ง ณ คลังสินค้าขององค์การเภสัชกรรมดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง หรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์อ้างว่าผู้ขายสินค้าในประเทศราชอาณาจักรสวีเดนเป็นผู้ส่งสินค้าและทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าทั้งสองเที่ยว ตามใบตราส่ง 2 ฉบับดังกล่าว โดยโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เป็นโดยชัดแจ้งว่าการรับขนของทางทะเลไปยังปลายทางในเงือนไข “กรุงเทพ ซีวาย” ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องนำสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่ง ณ คลังสินค้าของผู้รับตราส่งแต่อย่างใดโดยนางสาวเยาวนิจ หิรัญเทศ พนักงานพิจารณาค่าสินไหมทดแทนของโจทก์พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่าการรับขนของทางทะเลไปยังปลายทางในเงื่อนไข “กรุงเทพ ซีวาย” ผู้ขนส่งจะไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการเปิดตู้สินค้าที่คลังสินค้าของผู้รับตราส่ง และพยานไม่ทราบระเบียบปฏิบัติในการส่งมอบตู้สินค้า กับเบิกความตอบคำถามติงของทนายโจทก์ยืนยันว่า การรับขนของทางทะเลในเงื่อนไข “กรุงเทพ ซีวาย” หมายความว่า ผู้รับตราส่งจะรับตู้สินค้าไปเปิดที่หน้าคลังสินค้าของตนโดยผู้ขนส่งจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 มีนายโชติชัย ตันมนะสรรค์พนักงานของบริษัทไทยเรนโบว์ เอเยนซีส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการเป็นตัวแทนพิธีการเรือมาเป็นพยานเบิกความว่าระบบการขนส่งเงื่อนไข “ซีวาย” ปลายทางนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ขนส่งที่จะต้องลากตู้สินค้าจากท่าเรือปลายทางไปยังคลังสินค้าของผู้รับตราส่งที่ปลายทาง แต่ต้องเปิดตู้สินค้าที่คลังสินค้าที่คลังสินค้าของผู้รับตราส่งเว้นแต่ผู้รับตราส่งร้องขอต่อผู้ขนส่งและการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อขอเปิดตู้สินค้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เห็นว่า นายโชติชัย ทำงานอยู่ที่บริษัทตัวแทนเรือดังกล่าวมีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับเจ้าของเรือและนายเรือมานาน 10 ปี และเคยได้รับการอบรมและผ่านการอบรมกฎหมายว่าด้วยพาณิชย์นาวีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมทั้งได้รับการอบรมและผ่านการอบรมเกี่ยวกับการรับจัดการขนของทางทะเลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น่าเชื่อว่านายโชติชัยมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกิจการรับขนของทางทะเลพอสมควรประกอบนายโชติชัยก็มิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลของคดีนี้ คำเบิกความของนายโชติชัยจึงมีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟัง เมื่อไม่ปรากฏว่า ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 ได้ระบุเป็นเงื่อนไขพิเศษไว้เพิ่มเติมว่าผู้ขนส่งได้ขยายบริการนำตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าตามคำฟ้องทั้งสองตู้ไปส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่ง ณ คลังสินค้าของผู้รับตราส่ง ดังนั้น จึงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าการรับขนของทางทะเลในเงื่อนไขตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 องค์การเภสัชกรรมผู้รับตราส่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการนำสินค้าออกจากตู้สินค้าหรือลากตู้สินค้าจากลานวางตู้สินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปยังคลังสินค้าของตนเอง คดีจึงมีข้อต้องพิจารณาต่อไปว่าการที่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 มาร่วมเปิดตู้สินค้าและตรวจนับสินค้าด้วยนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้หรือไม่ว่า จำเลยที่ 2 ได้ตกลงโดยปริยายขยายบริการรับขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่องค์การเภสัชกรรมผู้รับตราส่ง ณ คลังสินค้าของผู้รับตราส่ง ได้ความจากคำเบิกความของนายถะเกิง บุณยรัตนพันธ์และ นายโยธิน อินทะวงศ์ พนักงานองค์การเภสัชกรรมว่า หลังจากองค์การเภสัชกรรมได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 2 ว่า สินค้าแต่ละตู้ถูกส่งมาถึงท่าเรือกรุงเทพแล้วพยานทั้งสองได้รับมอบหมายจากองค์การเภสัชกรรมให้นำใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 ไปขอรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยที่ลานวางตู้สินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยนายถะเกิงได้รับมอบหมายไปรับสินค้าจากตู้สินค้าตู้แรก ส่วนนายโยธินได้รับมอบหมายไปรับสินค้าจากตู้สินค้าตู้หลัง เห็นว่าหากจำเลยที่ 2 ได้ขยายบริการนำตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าแต่ละตู้ไปส่งมอบแก่องค์การเภสัชกรรมที่คลังสินค้าขององค์การเภสัชกรรมดังที่โจทก์ฟ้อง ก็ไม่มีเหตุผลที่องค์การเภสัชกรรมจะต้องส่งพนักงานของตนไปตรวจรับสินค้ากันที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเช่นนั้น แต่องค์การเภสัชกรรมน่าจะสั่งให้จำเลยที่ 2 ลากตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าทั้งสองตู้ไปยังคลังสินค้าของตนและตรวจรับสินค้ากันที่คลังสินค้าของตนซึ่งน่าจะเป็นการสะดวกว่า แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความจากคำเบิกความของนายถะเกิงและนายโยธินพยานโจทก์ว่า ในขณะที่พยานไปขอรับสินค้าออกจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อนำมาเก็บไว้ที่องค์การเภสัชกรรมนั้น พยานต้องนำใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 ประกอบการยื่นคำขอเปิดตู้สินค้าต่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้ส่งพนักงานบริษัทเอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนร่วมเปิดตู้สินค้าแต่ละตู้ รวมทั้งในการขนสินค้าออกจากตู้สินค้าแต่ละตู้ขึ้นรถยนต์บรรทุกนั้น พนักงานและกรรมกรของบริษัทเอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ก็เป็นผู้ดำเนินการโดยบริษัทดังกล่าวได้ทำใบตรวจนับสินค้าไว้เป็นพยานหลักฐาน ตามเอกสารหมาย จ.12 เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะนำมาเป็นเหตุผลในการรับฟังว่า จำเลยที่ 2 ได้ขยายบริการรับขนสินค้าตามคำฟ้องจากท่าเรือกรุงเทพอันเป็นท่าปลายทางไปยังคลังสินค้าขององค์การเภสัชกรรมผู้รับตราส่งด้วย เพราะนายโชคชัยพยานจำเลยที่ 2 ได้เบิกความอธิบายว่า ในการรับขนของทางทะเลเงื่อนไข “ซีวาย” ปลายทางนั้น ผู้รับตราส่งอาจร้องขอต่อผู้ขนส่งและการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเปิดตู้สินค้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยก็ได้ ซึ่งความในข้อนี้นายเลี้ยง ไชยวิภาส ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจของบริษัทโหงวฮก เอเยนซี่ จำกัด ผู้ประกอบการตัวแทนเรือก็ได้มาเป็นพยานจำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันว่า ในทางปฏิบัติในการเปิดตู้สินค้าจะต้องมีตัวแทนเรือของผู้ขนส่งมาร่วมตรวจสอบด้วยส่วนที่กรรมกรหรือพนักงานบริษัทเอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ช่วยเปิดตู้สินค้าและนำสินค้าออกจากตู้ขึ้นรถยนต์บรรทุกโดยไม่ใช้พนักงานหรือกรรมกรขององค์การเภสัชกรรมเองนั้น อาจเป็นเพียงบริการเสริมเพื่อความสะดวกของผู้รับตราส่งก็ได้ ทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าในการขนส่งสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปยังคลังสินค้าขององค์การเภสัชกรรมโดยรถยนต์บรรทุกนั้นได้ใช้รถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 หรือใช้รถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 2 ว่าจ้างมาเป็นยานพาหนะในการขนส่งแต่อย่างใด พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาในประเด็นข้อนี้จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับได้ว่าในการรับตนของทางทะเลตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 และ จ.24 จำเลยที่ 2 ได้ตกลงขยายบริการรับขนสินค้าทั้งสองตู้จากท่าเรือปลายทางไปส่งมอบให้แก่องค์การเภสัชกรรมผู้รับตราส่งที่คลังสินค้าของผู้รับตราส่งด้วย ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งเป็นผู้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ได้ขนส่งตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าแต่ละตู้มาถึงท่าเรือปลายทางและส่งมอบตู้สินค้าให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยโดยชอบแล้ว หน้าที่ดูแลสินค้าตามคำฟ้องแต่ละตู้ของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งย่อมสิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 40 (3) ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น จำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องรับผิดชอบในการสูญหายของสินค้าที่เกิดขึ้นในขณะที่สินค้าอยู่ในความอารักขาของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดในความสูญหายของสินค้าดังกล่าวทั้งสองจำนวนรวม 150 ถัง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาข้ออื่นตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และปัญหาตามฎีกาของโจทก์ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ว่าจะวินิจฉัยไปในทางใดก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษานี้ได้
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,500,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยคิดคำนวณถึงวันฟ้องรวมเป็นเงินจำนวน 4,429,810.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนั้น ทุนทรัพย์เฉพาะส่วนที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงมีเพียงจำนวน 2,886,660.22 บาท โจทก์จะต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงินจำนวน 72,167.50 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาในทุนทรัพย์จำนวน 4,429,810.90 บาท เป็นเงิน 110,745 บาท จึงเสียเกินมาเป็นเงิน 38,577.50 บาท เห็นสมควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่โจทก์เสียเกินมาดังกล่าวแก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เสียด้วย ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์เสียเกินมาเป็นเงินจำนวน 38,577.50 บาท แก่โจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกนั้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share