คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6018/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ในความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5,000,000 บาท นั้น เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองและโจทก์กำหนดจำนวนค่าเสียหายมาแน่นอนแล้วในขณะยื่นฟ้อง แม้โจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสองชำระนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป แต่ก็ไม่ใช่ค่าเสียหายที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตนอกจากที่ศาลมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งตามมาตรา 142 อยู่แล้ว ตามตาราง 1 (4) ท้าย ป.วิ.พ. ดังนั้น จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 (1) (ก) คดีโจทก์จึงมีทุนทรัพย์ 5,000,000 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว เมื่อโจทก์เพิกเฉยไม่ยอมชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นจึงชอบที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ก็มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั่นเอง ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคท้าย คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ก็ชอบที่มีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดแก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินค่าขึ้นศาลมาชำระภายใน 10 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ
ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ในความผิดที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ และขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5,000,000 บาท นั้น เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่โจทก์อ้างว่าเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองและโจทก์กำหนดจำนวนค่าเสียหายมาแน่นอนแล้วในขณะยื่นฟ้อง แม้โจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสองชำระนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป แต่ก็ไม่ใช่ค่าเสียหายที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตนอกจากที่ศาลมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งตามมาตรา 142 อยู่แล้วตามตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 (1) (ก) คดีโจทก์จึงมีทุนทรัพย์ 5,000,000 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว เมื่อโจทก์เพิกเฉยไม่ยอมชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นจึงชอบที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสอง แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องก็มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั่นเอง ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคท้าย คำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ก็ชอบที่มีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share