แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์ได้ความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีกรรมการ3 คน คือ โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 กรรมการสองคนในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกันประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ กรณีจะมีการฟ้องคดีในฐานะที่บริษัทเป็นโจทก์จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทที่จดทะเบียนไว้ ถึงแม้ในคำฟ้องของบริษัทโจทก์ที่ 1 จะกล่าวอ้างว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 7 ที่ 8ร่วมกับจำเลยอื่นทำให้บริษัทเสียหาย โจทก์ที่ 2 ในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัทคนหนึ่งนั้นจะมีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องตามกรณีที่กล่าวอ้างในคำฟ้องได้ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่จะต้องดำเนินการในฐานะนั้นเท่านั้น ไม่อาจดำเนินการฟ้องร้องในฐานะเป็นผู้แทนของบริษัทอันจะถือว่าบริษัทเป็นผู้ฟ้องคดีได้ เพราะในกรณีที่บริษัทจำกัดฟ้องคดีนั้น บริษัทจำกัดจะต้องเข้าไปรับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในกรณีที่ศาลจะให้ใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่งโดยบังคับเอาจากทรัพย์สินของบริษัทมิใช่ผู้ฟ้องคดีแทนจะต้องรับผิดหรือบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีแทน การที่โจทก์ที่ 2 เพียงผู้เดียวแม้จะเป็นกรรมการของบริษัทโจทก์ที่ 1 แต่ก็ไม่อาจที่จะมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทตามที่จดทะเบียนไว้ได้ โจทก์ที่ 2จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนบริษัทโจทก์ที่ 1 ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลได้ กรณีเป็นเรื่องบริษัทโจทก์ที่ 1 ในฐานะนิติบุคคลฟ้องคดีโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจกระทำแทนได้ เป็นเรื่องฟ้องคดีโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจไม่ใช่กรณีที่เป็นเรื่องบกพร่องในความสามารถที่ศาลต้องสั่งให้แก้ไขก่อนมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 แต่เป็นกรณีที่ความประสงค์ของนิติบุคคลนั้นไม่แสดงปรากฏจากผู้แทนของนิติบุคคลนั้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 75 คำฟ้องของโจทก์ที่ 1ซึ่งดำเนินการโดยโจทก์ที่ 2 จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 เป็นกรรมการโดยกรรมการ 2 คนใน 3 คน ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท กระทำการผูกพันบริษัทโจทก์ที่ 1 ได้ โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 เพียงคนเดียวได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 ในข้อหาผิดสัญญา เรียกค่าเสียหายและเพิกถอนสัญญาโอนหุ้น โดยแต่งตั้งให้นายวิชิต อังสนันท์ เป็นทนายความโจทก์ที่ 1 ต่อมาโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 7 ที่ 8 ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งในคำบอกกล่าวว่า โจทก์ที่ 1ฟ้องคดีโดยมีกรรมการเพียงคนเดียวลงชื่อในใบแต่งทนาย อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 บกพร่อง จึงให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์
ต่อมาโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 7 ที่ 8 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนนายวิชิต อังสนันท์ ออกจากการเป็นทนายความของโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นสั่งว่า เป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองถูกโจทก์ที่ 1 ฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ โดยมีโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อแต่งตั้งนายวิชิต อังสนันท์ เป็นทนายโจทก์ที่ 1 ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะใช้อำนาจแทนโจทก์ที่ 1 ยกคำร้อง
โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 7 ที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งยกฟ้องของศาลชั้นต้นที่สั่งในคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องโจทก์ที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องแล้วสั่งใหม่ตามนัยดังกล่าวข้างต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 7 ที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยในข้อแรกว่า การฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นคำฟ้องที่ต้องรับไว้พิจารณาต่อไปหรือไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามที่กล่าวไว้ในฟ้องแล้วได้ความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดมีกรรมการ 3 คน คือโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 7ที่ 8 กรรมการ 2 ใน 3 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ ดังนี้ ในกรณีจะมีการฟ้องคดีในฐานะที่บริษัทเป็นโจทก์แล้ว ก็ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทที่จดทะเบียนไว้ ถึงแม้ในคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 จะกล่าวอ้างว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 7 ที่ 8 ร่วมกับจำเลยอื่นทำให้บริษัทเสียหายโจทก์ที่ 2 ในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัทคนหนึ่งนั้น จะมีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องตามกรณีที่กล่าวอ้างในคำฟ้องได้ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่จะต้องดำเนินการในฐานะนั้นเท่านั้น ไม่อาจดำเนินการฟ้องร้องในฐานะเป็นผู้แทนของบริษัทอันจะถือว่าบริษัทจำกัดเป็นผู้ฟ้องคดีได้ เพราะในกรณีที่บริษัทจำกัดฟ้องคดีนั้น บริษัทจำกัดจะต้องเข้าไปรับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในกรณีที่ศาลจะให้ใช้แทนอีกฝ่ายหนึ่งโดยบังคับเอาจากทรัพย์สินของบริษัทจำกัด มิใช่ผู้ฟ้องคดีแทนจะต้องรับผิดหรือบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีแทน ดังนั้นการที่โจทก์ที่ 2 เพียงผู้เดียวแม้จะเป็นกรรมการของบริษัทจำกัดแต่ก็ไม่อาจที่จะมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำกัดตามที่จดทะเบียนไว้ได้ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจที่จะฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 1 ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลได้ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ในฐานะนิติบุคคลฟ้องคดีโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจกระทำการแทนได้ เป็นเรื่องฟ้องคดีโดยผู้ที่ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่กรณีที่เป็นเรื่องบกพร่องในความสามารถที่ศาลต้องสั่งให้แก้ไขก่อนมีคำพิพากษาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 แต่เป็นกรณีที่ความประสงค์ของนิติบุคคลนั้นไม่แสดงปรากฏจากผู้แทนของนิติบุคคลนั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ซึ่งดำเนินการโดยโจทก์ที่ 2 จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 7 ที่ 8 ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องคดีเช่นนี้แล้วปัญหาอื่นที่ฎีกามาก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น.