คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4130/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เอาเหล็กขูดชาฟท์มาวางบนตักให้ผู้เสียหายเห็นในขณะนั่งติดกันอยู่ในรถยนต์โดยสารประจำทาง แล้วพูดขอแว่นตาจากผู้เสียหาย แล้วจำเลยที่ 1 หยิบเอาแว่นตาของผู้เสียหายจากกระเป๋าเสื้อ และดึงสเกลจากในสมุดผู้เสียหายไป ย่อมเป็นการลักทรัพย์โดยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ขณะเดียวกันนั้นจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งขึ้นรถยนต์โดยสารประจำทางไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 และยืนอยู่ใกล้กับจำเลยที่ 1 ต่างเข้าไปหยิบทรัพย์จากกระเป๋าเสื้อและจากในมือผู้เสียหายไป แสดงว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทราบถึงการกระทำของจำเลยที่ 1โดยตลอด ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3ร่วมชิงทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 371, 91, 83 ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 480 บาทแก่ผู้เสียหาย กับให้ริบเหล็กขูดชาฟท์ของกลาง

จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรค 2, 76 กระทงหนึ่ง จำคุก 5 ปี และตามมาตรา 371 อีกกระทงหนึ่งปรับ 80 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 335(9), 76 จำคุกคนละ 1 ปีลดโทษให้ตามมาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 1 2 ปี 6 เดือน ปรับ 40 บาทจำเลยที่ 2 ที่ 3 จำคุกคนละ 6 เดือน ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไว้มีกำหนด5 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ 5 ริบเหล็กขูดชาฟท์ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 480 บาทแก่ผู้เสียหาย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ลดมาตราส่วนโทษตามมาตรา 76 กึ่งหนึ่งจำคุกคนละ 6 ปี และลดโทษให้ตามมาตรา 78 อีกกึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 3 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยที่ 1 หยิบเหล็กขูดชาฟท์มาวางบนตักให้ผู้เสียหายเห็นในขณะนั่งติดกันอยู่ในรถยนต์โดยสารประจำทางแล้วพูดขอแว่นตาจากผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็หยิบเอาแว่นตาของผู้เสียหายจากกระเป๋าเสื้อ และดึงสเกลของผู้เสียหายจากในสมุดผู้เสียหายไป ย่อมเป็นการลักทรัพย์โดยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทันทีที่จำเลยที่ 1 เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปแล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งขึ้นรถยนต์โดยสารประจำทางไปพร้อมกับจำเลยที่ 1 และยืนอยู่ใกล้กับจำเลยที่ 1 ต่างเข้าไปหยิบทรัพย์จากกระเป๋าเสื้อและจากในมือผู้เสียหายไป แสดงว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ทราบถึงการกระทำของจำเลยที่ 1โดยตลอด และหยิบเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปในระยะเวลาติดต่อกันและสถานที่เดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมชิงทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์

พิพากษายืน

Share