คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงโจทก์ว่ารู้จักกับผู้ใหญ่ในกรมตำรวจสามารถฝากบุตรโจทก์ให้เข้ารับราชการตำรวจได้โดยขอค่าวิ่งเต้น200,000 บาท โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบเงินให้ไป เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันมิชอบด้วยหน้าที่ ถือไม่ได้ว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้สินบนแก่เจ้าพนักงานอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งการกระทำดังกล่าวก็หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถดำเนินการได้และต่อมาได้ทำบันทึกโดยมีข้อความว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดตามพวกของจำเลยที่ 1 ให้มาชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ภายในกำหนด 6 เดือนจำเลยที่ 1 จะรับผิดชดใช้แทนโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์โดยตกเป็นผู้ผิดนัด เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำบันทึก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2529 จำเลยที่ 1ร่วมกับพวก 4 คน หลอกลวงโจทก์ว่ารู้จักผู้ใหญ่ในกรมตำรวจสามารถฝากนายธวัชชัย สังข์กระแสร์ บุตรโจทก์เข้ารับราชการตำรวจได้ โดยขอค่าวิ่งเต้น 200,000 บาท โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 กับพวกไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถฝากบุตรโจทก์เข้าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจได้ โจทก์จึงแจ้งความร้องทุกข์ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือยอมรับผิดชดใช้เงิน 170,000 บาท คืนโจทก์ภายใน 6 เดือนโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันแล้วโจทก์ถอนคำร้องทุกข์เมื่อครบกำหนดจำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 257,125 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 170,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มอบเงินจำนวน 200,000 บาทเพื่อให้จำเลยที่ 1 ไปกระทำผิดกฎหมายอาญา มูลหนี้ดังกล่าวจึงเกิดจากนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหนี้จำนวน 170,000 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มีเงื่อนไขเพียงให้จำเลยที่ 1 ต้องติดตามตัวนายมงคลมาดำเนินคดีและจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ค้ำประกัน คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ได้ตกลงให้จำเลยที่ 1 กับนายมงคลเป็นผู้ติดต่อดำเนินการให้นายธวัชชัยบุตรโจทก์ซึ่งเรียนสำเร็จปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ เข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร โจทก์ได้มอบเงินค่าติดต่อดำเนินการให้กับนายมงคลจำนวน 200,000 บาทโดยมีข้อตกลงว่า หากนายมงคลดำเนินการไม่สำเร็จจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไว้เป็นหนังสือปรากฏตามเอกสารหมาย ล.5 ปรากฏว่านายมงคลไม่สามารถติดต่อดำเนินการให้นายธวัชชัยเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1และนายมงคลในข้อหาฉ้อโกง ผลที่สุดโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 1 ยอมคืนเงินในส่วนที่จำเลยที่ได้รับไปจำนวน 30,000 บาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 170,000 บาทจำเลยที่ 1 จะติดตามนายมงคลให้มาชดใช้คืนแก่โจทก์ภายในกำหนด6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดตามนายมงคลให้มาชดใช้เงินได้ภายในกำหนด จำเลยที่ 1 จะรับผิดชดใช้แทน ข้อตกลงประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ส่วนโจทก์ยอมถอนคำร้องทุกข์รายละเอียดปรากฏตามบันทึกถอนคำร้องทุกข์ และรับผิดใช้หนี้เอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระเงินตามเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่ข้อนี้ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงโจทก์ว่ารู้จักกับผู้ใหญ่ในกรมตำรวจสามารถฝากนายธวัชชัยบุตรโจทก์ให้เข้ารับราชการตำรวจได้โดยขอค่าวิ่งเต้น 200,000 บาท โจทก์หลงเชื่อจึงได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 กับพวกไปแต่จำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถฝากนายธวัชชัยเข้ารับราชการเป็นตำรวจได้ ส่วนในทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่า โจทก์ให้เงินเพื่อให้จำเลยที่ 1 กับพวกนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆอันมิชอบด้วยหน้าที่แต่อย่างใด ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์และในทางพิจารณาที่ได้ความดังกล่าวถือไม่ได้ว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้สินบนแก่เจ้าพนักงานอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกทั้งการกระทำดังกล่าวก็หาได้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถฝากนายธวัชชัยบุตรโจทก์เข้ารับราชการเป็นตำรวจได้และต่อมาได้ทำบันทึกปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.1 มีข้อความว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดตามพวกของจำเลยที่ 1 คือนายมงคลให้มาชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ภายในกำหนด 6 เดือน จำเลยที่ 1 จะรับผิดชดใช้แทนโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเช่นนี้ มูลหนี้ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.1 จึงมิได้มาจากสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ อนึ่งบันทึกเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.1 ทำเมื่อวันที่26 เมษายน 2531 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดตามตัวนายมงคลมารับผิดชดใช้เงินภายใน 6 เดือน จำเลยทั้งสองย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำบันทึก ต้องชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 170,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนในฐานะผู้ค้ำประกัน

Share