คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6004/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิม ส. บุตรชายของจำเลยขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้ พ. บุตรชายของโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์อาจเรียกร้องค่าเสียหายจาก ส. ได้ จำเลยทำบันทึกยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทอันเกิดจากมูลละเมิดให้เสร็จสิ้นไป โดยเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการขืนใจลูกหนี้เดิมและไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บุตรชายของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่นายพิศักดิ์บุตรชายของโจทก์ขับอยู่เป็นเหตุให้บุตรชายของโจทก์ถึงแก่ความตาย จำเลยตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท แล้วไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 13 ตุลาคม 2538) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2538 นายสุทัศน์ เกตุอุดมบุตรชายของจำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่นายพิศักดิ์ พงษ์พิศาล บุตรชายของโจทก์ขับมาเป็นเหตุให้บุตรชายของโจทก์ถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2538โจทก์จำเลยได้เจรจาตกลงเรื่องค่าเสียหายจากเหตุดังกล่าวต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าจำเลยยอมชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท โดยกำหนดวันชำระไว้แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระพนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกให้โจทก์จำเลยลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า บันทึกข้อตกลงตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 มีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เดิมนายสุทัศน์บุตรชายของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้นายพิศักดิ์บุตรชายของโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงอาจเรียกร้องความเสียหายจากบุตรชายของจำเลยได้ในมูลละเมิด การที่จำเลยตกลงทำบันทึกต่อหน้าพนักงานสอบสวนยอมชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์โดยกำหนดจำนวนเงินและระยะเวลาชำระไว้ ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จึงเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทอันเกิดจากมูลละเมิดให้เสร็จสิ้นไป ทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และ 852จำเลยจึงต้องผูกพันตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวโจทก์ย่อมบังคับจำเลยตามนั้นได้ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีมูลหนี้จะต้องชำระแก่โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะนั้น เห็นว่าเดิมบุตรชายของจำเลยเป็นลูกหนี้ซึ่งอาจถูกโจทก์บังคับให้ชำระหนี้ในมูลละเมิด แต่จำเลยซึ่งเป็นมารดาของลูกหนี้ยอมเข้าทำข้อตกลงชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการขืนใจลูกหนี้เดิมและไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ หาเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share