คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5996/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ.มาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นการกระทำอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น” เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงด้วยวาจากับโจทก์ว่า หากโจทก์สามารถตรวจสอบพบการทุจริตและนำเงินที่ทุจริตกลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ตรวจสอบพบการทุจริตและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กระทั่งวันที่ 31 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 ได้รับคืนจำนวน 9,403,007.63 บาท ตามเงื่อนไขในการตกลงด้วยวาจาจึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าตอบแทนพิเศษให้นับแต่นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 หาใช่นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2544 อันเป็นวันที่โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ และเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำฟ้องเรียกค่าตอบแทนพิเศษคิดเป็นร้อยละของผลงานที่ทำได้ จึงเป็นการเรียกร้องค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานโดยคำนวณตามผลงานที่ทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานอันเป็นค่าจ้าง จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2546 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าจ้างอันเป็นค่าตอบแทนพิเศษจำนวน 940,300.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2546 จนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาวงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 470,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2546 จนกว่าจะชำระแล้วเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทุจริตภายในบริษัทจำเลยที่ 1 รวมทั้งลูกค้าของจำเลยที่ 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 33,000 บาท จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงด้วยวาจากับโจทก์ว่า หากโจทก์สามารถตรวจพบการทุจริตและนำเงินที่ทุจริตกลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1 จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษอัตราร้อยละ 10 กรณีตรวจพบการทุจริตของบุคคลภายนอกซึ่งเป็นลูกค้าเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายโดยทุจริตและสามารถทำให้จำเลยที่ 1 ระงับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษอัตราร้อยละ 5 ระหว่างทำงานโจทก์ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจนพบการทุจริตและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2544 ระหว่างที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2544 โจทก์ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2545 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาให้จำเลยในคดีดังกล่าวชดใช้เงินคืนแก่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้จำนวน 9,403,007.63 บาท และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินดังกล่าวในวันที่ 31 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ก่อนโจทก์ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีดังกล่าวได้มีการสอบสวนเป็นยุติแล้วว่ามีบุคคลต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 9,403,007.63 บาท เป็นการแน่นอน และมีข้อตกลงให้โจทก์ต้องรายงานผลงานและเบิกจ่ายค่าตอบแทนทุก 3 เดือน โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องอันเป็นค่าตอบแทนพิเศษตั้งแต่ที่ลาออก เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 จึงเกินกว่า 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นการกระทำอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น” เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงด้วยวาจากับโจทก์ว่า หากโจทก์สามารถตรวจสอบพบการทุจริตและนำเงินที่ทุจริตกลับคืนมาเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ตรวจสอบพบการทุจริตและเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ฟ้องธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กระทั่งวันที่ 31 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินคืนจำนวน 9,403,007.63 บาท ตามเงื่อนไขในการตกลงด้วยวาจา โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าตอบแทนพิเศษให้นับแต่นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 หาใช่นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2544 อันเป็นวันที่โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ และเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำฟ้องเรียกร้องค่าตอบแทนพิเศษคิดเป็นร้อยละของผลงานที่ทำได้ จึงเป็นการเรียกร้องค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานโดยคำนวณตามผลงานที่ทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานอันเป็นค่าจ้าง จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2547 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2546 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าตอบแทนพิเศษภายในกำหนดเวลา 2 ปี จึงไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share