แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน ได้รับค่าจ้างเป็นอัตราเดือนละตามจำนวนที่ได้กำหนดไว้แน่นอน และการคิดค่าจ้าง รายเดือนมิได้นำจำนวนวันหรือจำนวนชั่วโมงที่โจทก์เข้าปฏิบัติงานจริงเป็นเกณฑ์คำนวณค่าจ้าง ถ้าโจทก์ขาดงานหรือไปปฏิบัติงานสายบ้าง โจทก์ก็มิได้ถูกลดหรือถูกตัดค่าจ้างในวันดังกล่าว โจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างรายเดือนเต็มจำนวน การที่โจทก์ไปปฏิบัติงานจริงเวลา 8.20 นาฬิกาแต่ลงเวลาปฏิบัติงานตั้งแต่ 6 นาฬิกา แม้เป็นเท็จแต่เมื่อไม่ทำให้โจทก์ได้รับค่าจ้างหรือประโยชน์อย่างอื่นจากจำเลยเพิ่มขึ้น จึงไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของ โจทก์ไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นเพียงการไปปฏิบัติงานสายและรายงานเท็จเกี่ยวกับเวลาเริ่มปฏิบัติงานต่อผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ซึ่งไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงการที่จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(1) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ โจทก์ไปปฏิบัติงานสาย แล้วโจทก์ยังรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาอีก ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหายจากการเลิกจ้างให้โจทก์กับไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งตัวแทนการบริการ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า อ้างเหตุว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้างซึ่งไม่เป็นความจริงจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,271 บาท ค่าชดเชย 46,356 บาทและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรือรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม
จำเลยให้การว่า โจทก์ไปลงเวลาเข้าปฏิบัติงานที่แผนกที่ตนเองสังกัด แต่แทนที่จะลงเวลาตามที่โจทก์เริ่มเข้าปฏิบัติงานจริงโจทก์กลับลงเวลาตามช่วงเวลากะของการเข้าปฏิบัติงานของโจทก์คือ 6 นาฬิกา อันเป็นการลงเวลาเริ่มเข้าปฏิบัติงานเป็นเท็จเพื่อมิให้โจทก์ถูกจำเลยระบุว่าขาดงานหรือเข้าปฏิบัติงานสายซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง และในช่วงเวลาที่โจทก์จะต้องเข้าปฏิบัติงาน หัวหน้างานของโจทก์พยายามหาตัวโจทก์ในบริเวณที่โจทก์จะต้องเข้าปฏิบัติงานแต่ไม่พบโจทก์หัวหน้างานจึงมอบหมายงานที่โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบตรวจเช็คอาหารก่อนขึ้นเครื่องบิน พร้อมนำไปส่งที่เครื่องบินตามเวลาที่กำหนดให้แก่พนักงานคนอื่นปฏิบัติงานแทน การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลย เป็นความผิดร้ายแรงและยังเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์เป็นเพียงการไปปฏิบัติงานสายไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเป็นอัตราเดือนละตามจำนวนที่ได้กำหนดไว้แน่นอน และการคิดค่าจ้างรายเดือนมิได้นำจำนวนวันหรือจำนวนชั่วโมงที่โจทก์เข้าปฏิบัติงานจริงเป็นเกณฑ์คำนวณค่าจ้าง ถ้าโจทก์ขาดงานหรือไปปฏิบัติงานสายบ้าง โจทก์ก็มิได้ถูกลดหรือถูกตัดค่าจ้างในวันดังกล่าว โจทก์ยังคงได้รับค่าจ้างรายเดือนเต็มจำนวน การที่โจทก์ไปปฏิบัติงานจริงเวลา8.20 นาฬิกา แต่ลงเวลาปฏิบัติงานตั้งแต่ 6 นาฬิกา อันเป็นเท็จนั้นไม่ทำให้โจทก์ได้รับค่าจ้างหรือประโยชน์อย่างอื่นจากจำเลยเพิ่มขึ้นแต่ประการใด จึงไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่เป็นเพียงการไปปฏิบัติงานสายและรายงานเท็จเกี่ยวกับเวลาเริ่มปฏิบัติงานต่อผู้บังคับบัญชาเท่านั้นซึ่งไม่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงแต่ประการใดแต่การไปปฏิบัติงานสายของโจทก์แล้วยังรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาอีกนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างให้โจทก์ และไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน แต่เมื่อเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1) ดังที่จำเลยอ้างจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ โจทก์ทำงานมาเกินสามปี ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,726 บาท จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 46,356 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน46,356 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง