คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5992/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินที่ผู้ซื้อทรัพย์วางต่อศาลชั้นต้นในวันประมูลซื้อทรัพย์ได้นั้นเป็นเงินที่ผู้ซื้อทรัพย์ใช้ราคาทรัพย์ที่ประมูลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา515เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อทรัพย์แล้วนับแต่วันที่ผู้ซื้อทรัพย์วางต่อศาลแม้จำเลยจะยื่นคำร้องว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตามแต่ผลที่สุดศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาว่าการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายเมื่อได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายทอดตลาดให้ผู้ซื้อทรัพย์แล้วเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ใช้ราคาทรัพย์ในวันที่วางเงินต่อศาลชั้นต้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อคดีไม่ถึงที่สุดเงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่กลับมาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อทรัพย์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน3,556,200 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมหากไม่ชำระให้ยึดที่ดินที่จำเลยจำนองตราไว้เป็นประกันหนี้โจทก์รวม50 โฉนด ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์จึงขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินรวม 50 โฉนดดังกล่าวออกขายทอดตลาด เมื่อวันที่12 กรกฎาคม 2532 นายจำรัส เกียรติวงศ์ เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้ง 50 โฉนด ได้จากการขายทอดตลาดในราคา 1,770,000 บาท จำเลยยื่นคำร้องว่าที่ดินของจำเลยทั้ง 50 โฉนด มีราคาประเมินที่ใช้เป็นทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประมาณ 7,500,000 บาทแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้เพียง 1,750,000 บาท เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีกับโจทก์ร่วมกันกดราคาซื้อและดำเนินการขายทอดตลาดโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกเลิกการขายทอดตลาด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดใหม่ ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์นายจำรัส เกียรติวงศ์ ผู้ซื้อทรัพย์ถึงแก่กรรม นายสันทัดเกียรติวงศ์ ทายาทของผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต และเมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวตามคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ ล.5/2532 คดีหมายเลขแดงที่ล.3/2532 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2532 และศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2532 จำเลยย่อมหมดอำนาจที่จะดำเนินกิจการของตนต่อไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยจำเลยยื่นคำร้องอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยแล้วจึงเป็นดำเนินคดีโดยไม่มีอำนาจ พิพากษากลับให้ยกคำร้องของจำเลย คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องว่า เป็นผู้ซื้อที่ดินทั้ง 50 โฉนดของจำเลยจากการขายทอดตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2532ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่31 มกราคม 2534 เงินที่ผู้ซื้อทรัพย์วางไว้จึงเป็นเงินของผู้ซื้อทรัพย์ เพราะศาลชั้นต้นยกเลิกการขายทอดตลาดแล้วผู้ซื้อทรัพย์ขอเงินที่วางศาลจำนวน 1,770,000 บาท คืนแต่ศาลชั้นต้นไม่คืนให้ บัดนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า การขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2532 เป็นการขายที่ชอบด้วยกฎหมายและผู้ซื้อทรัพย์ได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ซื้อมาเป็นของผู้ซื้อทรัพย์เรียบร้อยแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์ประสงค์ขอคืนดอกเบี้ยจากเงินที่ศาลชั้นต้นไม่สั่งคืนให้ผู้ซื้อทรัพย์ นับจากวันที่ผู้ซื้อทรัพย์วางเงินต่อศาลชั้นต้น จนถึงวันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนเงินไปจากการบังคับคดีทั้งหมด ตามอัตราดอกเบี้ยที่ศาลชั้นต้นได้รับจากธนาคารเพราะเป็นดอกผลที่เกิดจากเงินของผู้ซื้อทรัพย์ ขอให้สั่งคืนดอกเบี้ยทั้งหมดแก่ผู้ซื้อทรัพย์
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์แล้วมีคำสั่งว่าเงินที่ผู้ซื้อทรัพย์วางศาลเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาที่ดินแม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาด แต่ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษากลับให้ยกคำร้องของจำเลยแล้ว เงินที่ผู้ซื้อทรัพย์วางศาลจึงมิใช่กรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อทรัพย์อีกต่อไป ผู้ซื้อทรัพย์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกผลจากเงินดังกล่าวอีก ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้ซื้อทรัพย์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่12 กรกฎาคม 2532 นายจำรัส เกียรติวงศ์ ซื้อที่ดินจำนวน 50 โฉนดราคา 1,770,000 บาท จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อมาจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องของจำเลยซึ่งมีผลเท่ากับว่าให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นและการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งผู้ซื้อทรัพย์ก็ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของผู้ซื้อทรัพย์แล้วปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ซื้อทรัพย์มีว่า เงินจำนวน1,770,000 บาท ที่ผู้ซื้อทรัพย์วางต่อศาลชั้นต้นในวันประมูลซื้อทรัพย์ได้นั้น ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อทรัพย์หรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 515 บัญญัติว่า”ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสด เมื่อการซื้อขายบริบูรณ์หรือตามเวลาที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาบอกขาย” ดังนั้นเงินจำนวน1,770,000 บาท เป็นเงินที่ผู้ซื้อทรัพย์ใช้ราคาทรัพย์ที่ประมูลได้ เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อทรัพย์แล้วนับแต่วันที่ผู้ซื้อทรัพย์วางต่อศาล แม้จำเลยจะยื่นคำร้องว่าการขายทอดตลาดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ผลที่สุดศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาว่า การขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมาย เมื่อได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายทอดตลาดให้ผู้ซื้อทรัพย์แล้วเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ใช้ราคาทรัพย์ในวันที่วางเงินต่อศาลชั้นต้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อคดีไม่ถึงที่สุด เงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่กลับมาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share