แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์โดยธ. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจเมื่อวันที่1ตุลาคม2534ให้ว.ฟ้องคดีแทนโจทก์ต่อมาวันที่13ตุลาคม2535ธ. ได้ออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทโจทก์ครั้นวันที่9กุมภาพันธ์2536ว.ได้ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจนั้นโดยไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้เพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวดังนี้สัญญาตัวแทนที่โจทก์แต่งตั้งว. ให้ฟ้องคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจนั้นยังคงมีผลผูกพันโจทก์และว. อยู่ตามกฎหมายหาได้ระงับสิ้นไปเพราะเหตุที่ธ.ออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทโจทก์ไม่เหตุดังกล่าวคงมีผลแต่เพียงว่าธ. ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นับแต่วันที่13ตุลาคม2535เท่านั้นส่วนกิจการอันได้กระทำไปแล้วหามีผลกระทบกระเทือนถึงไม่ว. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวหนังสือมอบอำนาจฉบับนั้นหาได้สิ้นผลไปก่อนวันฟ้องไม่ ฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งว่าการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญาไม่ถูกต้องไม่ตรงตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นแต่ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคหนึ่งโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองในต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,682,867.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 2,456,908.90 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 9,106 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์หากได้เงินไม่พอจำเลยต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า โจทก์เปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์แล้ว การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามสำเนาหนังสือท้ายฟ้องจึงถูกยกเลิกเพิกถอนไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อตกลงตามสัญญาโจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยโดยไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบเป็นการคิดดอกเบี้ยโดยพลการ โจทก์บอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2534 สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเลิกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2534 โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลย นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน2,682,867.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 2,456,908.90 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 9,106 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 9กุมภาพันธ์ 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระเงินดังกล่าวให้บังคับจำนองนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2383, 2384, 2358 ตำบลนาเยียอำเภอเดชอุดม ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1198 ตำบลโคกก่องที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 448, 1417, 1420 ตำบลคำขวางอำเภอวารินชำราบ และที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 800 ตำบลอ่างศิลาอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษาก็ให้จำเลยรับผิดใช้เงินส่วนที่ขาดแก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 สิ้นผลไปก่อนฟ้องจริงหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันแล้วนั้นฟังได้ว่า โจทก์โดยนายเธียรชัยศรีวิจิตร กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2534ให้นายวิรัตน์ เตียระกุล ฟ้องคดีแทนโจทก์ ต่อมาวันที่ 13ตุลาคม 2535 นายเธียรชัย ได้ออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทโจทก์ครั้นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2536 นายวิรัตน์ ได้ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 โดยไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้เพิกถอนหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ดังนี้ สัญญาตัวแทนที่โจทก์แต่งตั้งนายวิรัตน์ให้ฟ้องคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.22 ยังคงมีผลผูกพันโจทก์และนายวิรัตน์อยู่ตามกฎหมายหาได้ระงับสิ้นไปเพราะเหตุที่นายเธียรชัยออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทโจทก์ไม่ เหตุดังกล่าวคงมีผลแต่เพียงว่านายเธียรชัย ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์นับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2535 เท่านั้นส่วนกิจการอันได้กระทำไปแล้วหามีผลกระทบกระเทือนถึงไม่นายวิรัตน์จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 หาได้สิ้นผลไปก่อนวันฟ้องแต่อย่างใดโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
สำหรับฎีกาข้อที่สองซึ่งจำเลยโต้แย้งว่า การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.31 จ.37 และ จ.38 ไม่ถูกต้องไม่ตรงตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย นั้น เนื่องจากในปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้เพราะอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าว ฎีกาข้อที่สองของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน