คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐพาดหัวข่าวว่า ‘เมีย ผวจ. เต้นก๋าขู่ประธานสภา บุกโรงพัก จวกแหลก โมโหสารภาพ’ เป็นข้อความแสดงให้เห็นภาพพจน์ของโจทก์แสดงกิริยากระโดดฝ่าขึ้นไปบนสถานีตำรวจทั้งที่มีข้อห้ามโดยไม่เคารพกฎเกณฑ์ข้อบังคับ และแสดงอำนาจไม่เกรงกลัวบุคคลใดเข้าไปพูดกับประธานสภาด้วยกิริยาวาจาที่แสดงอาการโมโหในลักษณะตวาดหรือคำรามด้วยถ้อยคำที่ทำให้ประธานสภากลัวว่าจะต้องได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นกิริยาวาจาที่สุภาพชนไม่พึงทำ ทั้งยังเป็นการแสดงอำนาจฝ่าฝืนข้อห้ามข้อบังคับของทางราชการ บุกรุกขึ้นไปบนสถานที่ราชการโดยไม่มีสิทธิกระทำโดยชอบ ซึ่งข่าวนี้ไม่เป็นความจริงและเป็นการใส่ความโจทก์จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์
การแก้ข่าวอันจะทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดและสิทธิการฟ้องคดีของโจทก์ระงับไปตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 41, 43 นั้น นอกจากจะต้องลงพิมพ์ในฉบับที่จะออกโฆษณาถัดไปหรือต่อจากเวลาที่ได้รับคำขอให้แก้ข่าวแล้วข้อความที่แก้นั้นจะต้องอยู่ในหน้าเดียวกับเรื่องอันเป็นเหตุให้แก้โดยมีขนาดแนว (คอลัมน์) และตัวอักษรในเนื้อเรื่องเช่นเดียวกัน คดีนี้ปรากฏว่าข้อความที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์โฆษณาหมิ่นประมาทโจทก์ ลงพาดหัวข่าวในหน้า 1 ด้วยขนาดอักษรโตที่สุดโตที่สุดในหน้าหนึ่งจำนวน 2 บรรทัด และด้วยขนาดอักษรโตปรมาณครึ่งหนึ่งของขนาดอักษรโตที่สุดดังกล่าวอีก 1 บรรทัด ส่วนข้อความที่จำเลยอ้างว่าเป็นการแก้ข่าวนั้น กลับลงพิมพ์โฆษณาในหน้า 16 ด้วยขนาดอักษรตัวเล็กเท่าตัวอักษรทั่วๆ ไปที่บรรยายเนื้อหาของเรื่องในหนังสือพิมพ์นั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 3 สิทธิการฟ้องของโจทก์ทั้งทางแพ่งและทางอาญายังไม่ระงับ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลยที่1 ที่ 2 คนละ 2,000 บาท สถานเดียว จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าไม่ได้สมคบกับจำเลยที่ 3 กระทำผิดตามฟ้อง เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันโฆษณาด้วยเอกสารหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๒๖, ๓๒๘, ๓๓๒ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๔๘
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ระหว่างการพิจารณาจำเลยที่ ๓ ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๔๘ ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ ๒,๐๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นภรรยานายปัญญา ฤกษ์อุไร ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตราด หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นหนังสือพิมพ์รายวันพิมพ์จำหน่ายจ่ายแจกให้ประชาชนได้อ่านทั่วราชอาณาจักรโดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้อำนวยการและเจ้าของในนามบริษัทพลสิน จำกัด จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณา ขณะที่นายปัญญา ฤกษ์อุไร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตราด หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับที่ ๗๘๑๐ ปีที่ ๒๒ ลงวันที่๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๒ และฉบับที่ ๗๘๑๑ ปีที่๒๒ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๒ ได้ลงพิมพ์ข่าวกล่าวถึงโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๑, ๒ จริงดังฟ้อง แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ข้อแรกว่า ข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับที่ ๗๘๑๐ ปีที่ ๒๒ ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๒๒ เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับนี้พาดหัวข่าวในหน้า ๑ ว่า เมียผวจ.เต้นก๋าขู่ประธานสภา บุกโรงพักจวกแหลก โมโหสารภาพ’ เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นภาพพจน์ของโจทก์ แสดงกิริยากระโดดฝ่าขึ้นไปบนสถานีตำรวจทั้งที่มีข้อห้ามโดยไม่เคารพกฎเกณฑ์ข้อบังคับและแสดงอำนาจไม่เกรงกลัวบุคคลใดเข้าไปพูดกับประธานสภาด้วยกิริยาวาจาที่แสดงอาการโมโหในลักษณะตวาดหรือคำรามด้วยถ้อยคำที่ทำให้ประธานสภากลัวว่าจะต้องรับอันตรายแก่ร่างกายตนอันเป็นกิริยาวาจาที่สุภาพชนไม่พึงทำ ทั้งยังเป็นการแสดงอำนาจฝ่าฝืนข้อห้ามข้อบังคับของทางราชการ บุกรุกขึ้นไปบนสถานีตำรวจซึ่งเป็นสถานที่ราชการโดยไม่มีสิทธิกระทำได้โดยชอบ ซึ่งการกระทำของโจทก์ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข่าวนี้ไม่เป็นความจริง เห็นว่าเป็นข้อความที่ใส่ความโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสารหนังสือพิมพ์ น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังเข้าลักษระความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ เมื่อข้อความที่พาดหัวข่าวหน้า ๑ เป็นหมิ่นประมาทโจทก์ดังวินิจฉัยแล้วก็ไม่ต้องพิจารณาข้อความเนื้อหาของข่าวต่อไปอีกว่ามีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อีกหรือไม่ เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี คือถ้ามีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อีกก็เป็นความผิดกรรมเดียวกันกับที่พาดดัวหข่าว คดีมีปัญหาต่อไปว่า ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับที่ ๗๘๑๐ ปีที่ ๒๒ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๒๒ ลงพิมพ์ข้อความในหน้า ๑๖ ว่า ‘……สำหรับกรณีข่าวที่ว่านางเลื่อน ฤกษ์อุไร ภรรยานายปัญญา ฤกษ์อุไรผวจ.ตราดได้ขึ้นไปพบนายสุรพล ประธานสภาจังหวัดตราดเมื่อเวลา ๐๔. น. วันที่ ๙ มิ.ย. นั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้พล.ต.ต.ณรงค์ อัลภาชน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้สั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องทำการสอบสวนเนื่องจากเป็นการขึ้นไปเยี่ยมผู้ต้องหาไม่ใช่เวลาเยี่ยมซึ่งจากการสอบสวนปากคำนายสุรพล พาทีทิน บอกว่า ตามวันเวลาดังกล่าวนางเลื่อนไม่ได้มาพบแต่อย่างใด………’ เป็นการแก้ข่าวอันเป็นการทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดและสิทธิการฟ้องคดีของโจทก์ระงับไปตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๑,๔๓ หรือไม่ เห็นว่าตามบทกฎหมายที่จำเลยอ้างนั้นนอกจากการแก้ข่าวจะต้องลงพิมพ์ในฉบับที่จะออกโฆษณาถัดไปหรือต่อจากเวลาที่ได้รับคำขอให้แก้ข่าวแล้ว ข้อความที่แก้ข่าวนั้นจะต้องอยู่ในหน้าเดียวกับเรื่องอันเป็นเหตุให้แก้โดยมีขนาดแนว (คอลัมน์) และตัวอักษรในเนื้อเรื่องเช่นเดียวกัน สำหรับกรณีแห่งคดีนี้ ปรากฏว่าข้อความที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์โฆษณาหมิ่นประมาทโจทก์ดังวินิจฉัยแล้ว ลงพาดหัวข่าวในหน้า ๑ ด้วยขนาดอักษรโตที่สุดในหน้านั้นจำนวน ๒ บรรทัด และด้วยขนาดอักษณโตประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดอักษรโตที่สุดดังกล่าวอีก ๑ บรรทัด ส่วนข้อความที่จำเลยอ้างว่าเป็นการแก้ข่าวนั้นกลับลงพิมพ์โฆษณาในหน้า ๑๖ ด้วยขนาดอักษรตัวเล็กเท่าตัวอักษรทั่ว ๆ ไปที่บรรยายเนื้อหาของเรื่องในหนังสือพิมพ์นั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๓ สิทธิการฟ้องของโจทก์ทั้งทางแพ่งและทางอาญาไม่ระงับไปดังฎีกาของจำเลย คดีมีปัญหาข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะต้องรับผิดตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้จำเลยยกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๔๙ ขึ้นอ้างและว่าจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์โฆษณาต้องรับผิดในการพิมพ์และการโฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จำเลยที่ ๑ หรือจำเลยที่๒ มิได้เกี่ยวข้องในการพิมพ์และการโฆษณา หากจะรับผิดชอบเพียงเท่าที่ตนกระทำโจทก์ก็มิได้นำสืบให้ปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ได้สมคบกับจำเลยที่ ๓ กระทำการพิมพ์หรือโฆษณาอย่างไร ศาลยกเอาข้อความตอนล่างสุดของหน้า ๑๖ มายืนยันว่า บริษัทพลสิน จำกัดจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของ ฯ ข้อความเพียงบรรทัดเดียวกันนั้นเองได้ระบุชัดแจ้งอีกว่า ‘นายสุรพล พรทวีวัฒน์ เป็นผู้จัดการจำหน่ายหากจะมีบุคคลสมคบกับจำเลยที่ ๓ ในการโฆษณาคือจำหน่ายหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็คือนายสุรพล พรทวีวัฒน์ หาใช่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่นั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยดังยกขึ้นกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้สมคบกับจำเลยที่ ๓ กระทำผิดดังฟ้อง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ คนละ ๒,๐๐๐ บาท สถานเดียว จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน

Share