คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5990/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาเช่าซื้อ ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ให้เจ้าของมีสิทธิจะเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที และยึดรถจักรยานยนต์กลับคืนมาได้ ในระหว่างสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 4 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อรวม 6 งวด ติดต่อกัน ผู้ร้องไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อหรือติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจากจำเลยที่ 4 ผู้ร้องยอมรับชำระค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 4 ต่อไปอีกรวม 3 งวด จากนั้นมาจำเลยที่ 4 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมาโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาจากผู้ร้อง เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ผู้ร้องจึงมอบหมายให้พนักงานของผู้ร้องไปติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืน ก่อนหน้าวันที่ศาลมีคำสั่งริบ ผู้ร้องยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและยังไม่ได้ติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจากจำเลยที่ 4 ผู้ร้องยังเปิดทางให้จำเลยที่ 4 หรือผู้ค้ำประกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องได้และผู้ร้องจะดำเนินการให้จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางต่อไป ผู้ร้องจึงมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ส่อแสดงว่าการร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้ร้องเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 4 ผู้เช่าซื้อ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เข้าลักษณะผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยายนต์ของกลาง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และริบรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กวพ ลพบุรี 556 และรถยนต์หมายเลขทะเบียน บจ 412 สระบุรี ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้คืนรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน กวพ ลพบุรี 556 ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและโจทก์มิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กวพ ลพบุรี 556 ของกลางเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องให้จำเลยที่ 4 เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไปในราคา 47,900 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดๆ งวดละ1,550 บาท รวม 30 งวด เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 และงวดต่อๆ ไป ภายในวันที่ 16 ของทุกเดือนถัดไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม 2550 จำเลยทั้งสี่นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิดคดีนี้ และศาลมีคำพิพากษาให้ริบ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องใช้สิทธิขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 (ก) ระบุว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ให้เจ้าของมีสิทธิจะเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที และยึดรถจักรยานยนต์กลับคืนมาได้ ได้ความตามบัญชีลูกหนี้ว่า ในระหว่างสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 4 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ถึงเดือนมิถุนายน 2549 รวม 6 งวด ติดต่อกัน ผู้ร้องไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อหรือติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจากจำเลยที่ 4 และปรากฏว่าในงวดถัดมาเดือนกรกฎาคม สิงหาคมและตุลาคม 2549 ผู้ร้องยอมรับชำระค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 4 ต่อไปอีกรวม 3 งวด จากนั้นมาจำเลยที่ 4 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมาโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาจากผู้ร้องจนเดือนกันยายน 2551 เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ผู้ร้องจึงมอบหมายให้พนักงานของผู้ร้องไปติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืน จึงทราบว่าศาลมีคำสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลางแล้ว แสดงว่าก่อนหน้าวันที่ 2 มกราคม 2551 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งริบ ผู้ร้องยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและยังไม่ได้ติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืนจากจำเลยที่ 4 เมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของนางพวงแก้ว พนักงานติดตามเร่งรัดหนี้สินของผู้ร้องตอบโจทก์ถามค้านว่า หากจำเลยที่ 4 หรือผู้ค้ำประกันนำเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญามาชำระ ผู้ร้องก็จะรับชำระและทำการปิดบัญชีดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ ตรงกับคำเบิกความของนางเบ็ญจวรรณ์ ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องตอบโจทก์ถามค้านว่า หากจำเลยที่ 4 นำเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญามาชำระให้ทั้งหมด ผู้ร้องก็ยินดีรับชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา เป็นคำเบิกความที่สอดคล้องกันอันเป็นการสะท้อนทางปฏิบัติตามสัญญาระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 4 ว่า เป็นดังที่พยานผู้ร้องเบิกความ หาใช่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวดังที่ผู้ร้องฎีกา แสดงว่าผู้ร้องยังเปิดทางให้จำเลยที่ 4 หรือผู้ค้ำประกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องได้ และผู้ร้องจะดำเนินการให้จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางต่อไป ผู้ร้องจึงมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับเงินค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ส่อแสดงว่าการร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้ร้องเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 4 ผู้เช่าซื้อ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เข้าลักษณะผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 4 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนรถจักรยายนต์ของกลาง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share