แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์นำภาพถ่ายเปลือยของหญิงและการร่วมประเวณีระหว่างหญิงดังกล่าวกับโจทก์ที่โจทก์บันทึกไว้ออกเผยแพร่เพื่อประจานหญิงนั้นจนปรากฏเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์รายวันซึ่งระบุว่าโจทก์เป็นพนักงานฝ่ายช่างของจำเลยย่อมกระทบต่อเกียรติและชื่อเสียงของจำเลย ถือว่าโจทก์ไม่รักษาเกียรติและชื่อเสียงของจำเลย เป็นการประพฤติชั่ว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดี แม้โจทก์กระทำนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาทำงานก็เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ อัตราค่าจ้าง และสวัสดิการต่าง ๆ เช่นเดิม หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่ากับจำนวนค่าชดเชย 113,760 บาท และจ่ายค่าจ้าง ค่าครองชีพ ค่าวิชาชีพ นับแต่วันสั่งพักงานจนถึงวันเลิกจ้างเป็นเงิน 526,140 บาท 75,480 บาท และ 74,000 บาท ตามลำดับ กับจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2544 และ 2545 ในอัตราปีละ 54,780 บาท ประจำปี 2546 เป็นเงิน 73,000 บาท ค่าชดเชยในวันหยุดนักขัตฤกษ์ในระหว่างพักงานเป็นเงิน 150,536 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,122,516 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นางบุญแต่ง ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งช่างซ่อมเครื่องบิน ได้รับเงินเดือน 14,220 บาท เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2543 โจทก์ว่าจ้างบุคคลอื่นให้นำภาพถ่ายเปลือยกายของนางสาวพรวิไล ซึ่งบางภาพเป็นภาพโจทก์ร่วมประเวณีกับนางสาวพรวิไลไปติดไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ในหมู่บ้านและสถานที่ที่นางสาวพรวิไลมีความเกี่ยวข้อง โดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปได้พบเห็นภาพดังกล่าว มีหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าเป็นการกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลย แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์กระทำผิดต่อศีลธรรมอันดีงาม เป็นการไม่รักษาเกียรติและชื่อเสียงของจำเลย และเป็นการประพฤติชั่ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียต่อชื่อเสียงของจำเลย แม้โจทก์กระทำนอกเวลาทำงานและนอกเหนือจากทางการที่จ้างของจำเลย จำเลยก็มีอำนาจลงโทษตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้ การกระทำของโจทก์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า ระเบียบของจำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ตอนที่ 2 ว่าด้วยวินัย การลงโทษ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ.2537 ข้อ 5.12 ระบุว่า “พนักงานต้องรักษาวินัยที่กำหนดไว้ต่อไปนี้โดยเคร่งครัดคือรักษาเกียรติชื่อเสียงของบริษัท ไม่ประพฤติชั่ว ไม่ประพฤติตนเป็นอันธพาล ไม่กระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี รวมทั้งไม่ประพฤติตนอันเป็นภัยต่อสังคมหรือบริษัท” การที่โจทก์นำภาพถ่ายเปลือยของหญิงและภาพถ่ายการร่วมประเวณีระหว่างหญิงดังกล่าวกับโจทก์ที่โจทก์บันทึกไว้ออกเผยแพร่เพื่อประจานฝ่ายหญิงนั้น เป็นการกระทำของผู้ที่มีจิตใจผิดปกติที่คนธรรมดาจะพึงกระทำ และการกระทำของโจทก์ปรากฏเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์รายวัน โดยในข่าวระบุว่าโจทก์เป็นพนักงานฝ่ายช่างของจำเลย จึงย่อมกระทบต่อเกียรติและชื่อเสียงของจำเลย ถือว่าโจทก์ไม่รักษาเกียรติและชื่อเสียงของจำเลยและยังเป็นการประพฤติชั่ว รวมทั้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีอีกด้วย แม้โจทก์จะกระทำนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาทำงานก็เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน