คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12686/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติเรื่องอายุความละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ใช้บังคับในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด เช่น นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเป็นต้น แต่คดีนี้จำเลยที่ 3 ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในผลแห่งละเมิดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนสาขาบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และกรณีนี้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 เช่นว่านี้ มิใช่รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับได้ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้บัญญัติอายุความกรณีความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่คดีนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามที่ศาลปกครองเชียงใหม่ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ปรากฏตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 12/2554 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งให้โอนคดีนี้มายังศาลชั้นต้นตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 22905 ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ราคาที่ดินเป็นเงิน 402,050 บาท
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าเสียหาย 402,050 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เพียงว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติเรื่องอายุความละเมิดได้บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ว่า “สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด” อายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับในกรณีที่ผู้เสียหายฟ้องผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด เช่น นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 เป็นต้น แต่คดีนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในผลแห่งละเมิดที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน สาขาบ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และกรณีนี้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ความรับผิดของจำเลยที่ 3 เช่นว่านี้ มิใช่รับผิดในฐานะผู้กระทำละเมิดหรือผู้ร่วมรับผิดกับผู้กระทำละเมิด ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง คดีจึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับได้ และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ไม่ได้บัญญัติอายุความกรณีความรับผิดของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ซึ่งการนับอายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นต้นไป ก่อนจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้รับความเสียหายและยังไม่รู้ว่าผู้ใดจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ตน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพาทดังกล่าว โจทก์ทั้งสองย่อมได้รับความเสียหาย และถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และต่อมามีการโอนคดีจากศาลปกครองเชียงใหม่มาศาลชั้นต้น การที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้จึงยังไม่ถึง 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share