คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2190/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาส โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับแล้ว แต่ไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ข้อเท็จริงฟังได้ว่าโจทก์ส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.31 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 และครั้งที่สองตามเอกสารหมาย จ.33 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ซึ่งปรากฎว่าตามเอกสารหมาย จ.31 โจทก์ทวงถามโดยระบุว่า เป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินและเป็นการทวงถามก่อนมีการฟ้องคดีแพ่งอันเป็นมูลเหตุที่โจทก์นำเอาคำพิพากษาคดีแพ่งมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายคดีนี้ จึงเป็นการทวงถามคนละมูลหนี้กับมูลหนี้ตามฟ้องคดีนี้ ถือไม่ได้ว่าการทวงถามครั้งแรกเป็นการทวงถามในมูลหนี้ตามคำฟ้องคดีล้มละลาย ดังนั้น จึงฟังได้ว่าคดีนี้โจทก์ทวงถามเพียงครั้งเดียว กรณีไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) ที่จะถือว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามความเป็นจริง ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 7 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (5) แล้ว ศาลย่อมมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เด็ดขาดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งเจ็ดเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ไม่ให้การต่อสู้คดีและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การว่า โจทก์ยังไม่เคยร้องขอบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีทรัพย์สินและประกอบกิจการมีรายได้พอชำระหนี้ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 และที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 6 และที่ 7 ยังประกอบกิจการมีรายได้และไม่เป็นหนี้อื่นใดอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งเจ็ดเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งเจ็ดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งเจ็ด เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 มีว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์ข้อแรกว่า โจทก์ส่งหนังสือทวงถามไม่ถูกต้องตามข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ส่งหนังสือทวงถาม 2 ครั้ง ครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.31 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2550 และครั้งที่สองตามเอกสารหมาย จ.33 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ซึ่งปรากฏว่าตามเอกสารหมาย จ.31 โจทก์ทวงถามโดยระบุว่า เป็นหนี้ตามสัญญากู้เงินและเป็นการทวงถามก่อนมีการฟ้องคดีแพ่งอันเป็นมูลเหตุที่โจทก์นำเอาคำพิพากษาคดีแพ่งมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายคดีนี้ จึงเป็นการทวงถามคนละมูลหนี้กับมูลหนี้ตามฟ้องคดีนี้ ถือไม่ได้ว่าการทวงถามครั้งแรกเป็นการทวงถามในมูลหนี้ตามคำฟ้องคดีล้มละลาย ดังนั้น จึงฟังได้ว่าคดีนี้โจทก์ทวงถามเพียงครั้งเดียว กรณีไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ที่จะถือว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 มีหนี้สินล้นพ้นตัว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ข้อนี้ฟังขึ้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า กรณียังไม่มีการบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) นั้น เห็นว่า ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) มี 2 กรณี คือ ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีหรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ เพียงปรากฏข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งในกรณีดังนี้ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว มิใช่ว่าจะต้องประกอบกันทั้งสองกรณี แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในคดีแพ่งโจทก์ขอออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 แล้วก็ตาม แต่การยึดทรัพย์ที่ได้ความตามคำฟ้องเป็นการยึดทรัพย์ของบริษัทอินเตอร์ พี เอ็น กรุ๊ป จำกัด กับของนายสุรพงศ์และนายสนธิพัฒน์ไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 จึงต้องพิจารณาต่อไปว่ากรณีเข้าข้อสันนิษฐานอีกกรณีหนึ่งหรือไม่ โจทก์มีนายสิงหนาทเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 แล้ว แต่ไม่พบนั้น ก็ปรากฏว่าเป็นการตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินเฉพาะของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 เท่านั้น ไม่ได้มีการตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และ ที่ 5 แต่อย่างใด ทั้งในส่วนของจำเลยที่ 6 เป็นการตรวจสอบกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 แล้ว และจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีดังกล่าวยังไม่พอฟังตามข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) คงฟังได้เพียงว่าเฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 7 เท่านั้นที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) อุทธรณ์เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ฟังขึ้นอย่างไรก็ตามแม้ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 จะฟังได้ว่ากรณีไม่เข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้ด้วยว่า จำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 มีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นหนี้โจทก์จำนวนมาก ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว ศาลชอบที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 เด็ดขาดได้ และเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด และจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 6 โดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070, 1077 (2), 1080 และ มาตรา 1087 ให้ล้มละลายพร้อมกันมาแต่แรก เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 6 เด็ดขาด จำเลยที่ 6 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 6 เด็ดขาดนั้นชอบแล้ว จำเลยที่ 7 ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามฟ้องกับจำเลยที่ 6 ต่อโจทก์ด้วย จึงไม่อาจต่อสู้ว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้หรือมิได้มีหนี้ล้นพ้นตัวได้ คดีย่อมมีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 7 เด็ดขาดได้ ในส่วนของจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) นั้น จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งจำเลยที่ 3 เพียงแต่เบิกความลอย ๆ ว่า มีทรัพย์สินมูลค่ากว่า 30,000,000 บาท จึงไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟัง ส่วนที่อ้างว่ามีหลักทรัพย์ในบริษัทอินเตอร์ พี เอ็น กรุ๊ป จำกัด ก็ปรากฏว่าบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว หลักทรัพย์ดังกล่าวจึงไม่น่าจะมีมูลค่าพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้ ทั้งกลับได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่า มีเจ้าหนี้รายอื่นอีกโดยมีหนี้ค้างชำระอยู่กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยถึง 20,000,000 บาท อยู่ระหว่างผ่อนชำระ พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 3 นำสืบมาจึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share