แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คู่มือพนักงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเป็นหลักจริยธรรมของจำเลยระบุว่าลูกจ้างต้องไม่ให้ผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าแทรกแซงการดำเนินธุรกิจของจำเลย การที่โจทก์ทำงานกับจำเลยในตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลกับร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้จำเลยและยังเป็นผู้พิจารณาอะไหล่และอุปกรณ์สำหรับใช้กับเครื่องจักรของจำเลยแม้โจทก์จะไม่ได้เป็นผู้พิจารณาให้บริษัท ส. ได้เป็นคู่ค้ากับจำเลยแต่ตำแหน่งของโจทก์สามารถมีอิทธิพลต่อการติดต่อและเป็นมูลเหตุจูงใจกับเป็นช่องทางให้โจทก์เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ส. ที่โจทก์ร่วมก่อตั้งเป็นพยานการโอนหุ้น และเข้าประชุมที่บริษัทดังกล่าวแทนภริยาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นโดยทางอ้อมได้ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
แม้จำเลยจะไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อใด แต่จำเลยก็มีสิทธิให้การโดยยกรายละเอียดการกระทำของโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างแล้วระบุข้อของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ที่ตรงกับข้อห้ามที่โจทก์กระทำการฝ่าฝืนขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2526 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานครั้งสุดท้ายตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลอัตราค่าจ้างเดือนละ 38,500 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 231,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลปรับปรุงและพัฒนาขบวนการผลิตและการขึ้นรูป มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเสนอการเลือกใช้อะไหล่และอุปกรณ์ พิจารณาคัดเลือกผู้จำหน่ายสินค้าที่ใช้ในขบวนการดังกล่าวให้จำเลย มีอำนาจติดต่อสั่งซื้อสินค้าจากผู้จำหน่ายโดยตรงในกรณีเร่งด่วน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สามารถให้คุณให้โทษต่อการดำเนินกิจการของผู้จำหน่ายสินค้าให้แก่จำเลยและของจำเลยโดยตรงแต่โจทก์ใช้ชื่อภริยาคือนางดวงใจ นาคสวัสดิ์ ได้ร่วมกับนายสิทธิกร เพ็ชรรักซึ่งเป็นวิศวกรอีกคนหนึ่งของจำเลยและบุคคลอื่นก่อตั้งบริษัทสามารถพรีซีชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้าผู้จำหน่ายสินค้าอุปกรณ์และอะไหล่เพื่อใช้กับเครื่องมือเครื่องจักรกลให้แก่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรงตามคู่มือพนักงาน หมวดที่ 1ข้อ 7, 9 หมวดที่ 7 ข้อ 7.1.3, 7.1.12 เป็นโทษสถานร้ายแรงตามข้อ 11,12, 18 ละเมิดคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลหัวข้อการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม2526 จำเลยจ้างโจทก์ทำงาน ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลอัตราค่าจ้างเดือนละ 38,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน โจทก์ร่วมก่อตั้งและดำเนินกิจการของบริษัทสามารถพรีซีชั่นส์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้ากับจำเลย ตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลของโจทก์สามารถเอื้ออำนวยหรือหาผลประโยชน์ให้แก่บริษัทสามารถพรีซีชั่นส์ จำกัด ได้ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมายล.3 และ ล.4 ซึ่งการฝ่าฝืนดังกล่าวแม้จะไม่ปรากฏว่าเกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมก่อตั้งบริษัทสามารถพรีซีชั่นส์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทคู่ค้ากับจำเลย ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือโอนหุ้นและเคยเข้าร่วมประชุมที่บริษัทดังกล่าวแทนนางดวงใจ นาคสวัสดิ์ ภริยาโจทก์โจทก์ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้จำเลยว่ามีผู้ใดบ้างวิศวกรเครื่องกลเป็นผู้พิจารณาอะไหล่และอุปกรณ์สำหรับใช้กับเครื่องจักรวิศวกรเครื่องจักรเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพและพิจารณาว่าผู้จัดจำหน่ายรายใดได้เป็นคู่ค้ากับจำเลย กรณีของบริษัทสามารถพรีซีชั่นส์ จำกัด วิศวกรผู้พิจารณาคือนายสิทธิกร เพ็ชรรัก ไม่ใช่โจทก์ ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอิทธิพลทางตรงหรือทางอ้อมต่อการติดต่อของจำเลยกับบริษัทสามารถพรีซีชั่นส์จำกัด หรือโจทก์ได้ทำงานเป็นตัวแทนหรืออนุเคราะห์แก่บริษัทสามารถพรีซีชั่นส์จำกัด ด้วยเหตุผลส่วนตัวในการติดต่อกับจำเลย ศาลแรงงานกลางแปลความหมายเอกสารหมาย ล.4 หน้าที่ 10 เรื่องการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริง ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายังแปลไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลอย่างร้ายแรงตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4นั้น เห็นว่า คู่มือพนักงานเอกสารหมาย ล.3 และคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลเอกสารหมาย ล.4 เป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเป็นหลักจริยธรรมของจำเลย ซึ่งเอกสารหมาย ล.4 หน้าที่ 10 ได้ระบุเกี่ยวกับการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนว่าลูกจ้างต้องไม่ให้ผลประโยชน์ส่วนตัวเข้าแทรกแซงการดำเนินธุรกิจของจำเลย เช่น ห้ามลูกจ้างมีอิทธิพลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อการติดต่อของจำเลยกับผู้จัดจำหน่ายซึ่งลูกจ้างมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือทางการเงินอยู่ด้วย หรือห้ามทำงานให้กับเป็นตัวแทน หรืออนุเคราะห์ผู้จัดจำหน่ายด้วยเหตุผลส่วนตัวในการติดต่อกับจำเลย เพราะถ้าลูกจ้างมีอิทธิพลหรืออำนาจต่อการติดต่อของจำเลยกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายซึ่งเป็นคู่ค้ากับจำเลยและลูกจ้างมีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวหรือทางการเงินอยู่กับบริษัทคู่ค้าดังกล่าว ย่อมเป็นมูลเหตุจูงใจและช่องทางให้ลูกจ้างใช้อิทธิพลหรืออำนาจหน้าที่ที่ตนมีอยู่ในทางที่อนุเคราะห์หรือให้ผลประโยชน์แก่บริษัทคู่ค้าที่ลูกจ้างมีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวหรือทางการเงินได้โดยง่ายและยากต่อการตรวจสอบจนอาจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง โจทก์ทำงานกับจำเลยในตำแหน่งวิศวกรเครื่องกลกับร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาผู้จัดจำหน่ายสินค้าให้จำเลยและผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวยังเป็นผู้พิจารณาอะไหล่และอุปกรณ์สำหรับใช้กับเครื่องจักรของจำเลย แม้โจทก์จะไม่ได้เป็นผู้พิจารณาให้บริษัทสามารถพรีซีชั่นส์ จำกัด ได้เป็นคู่ค้ากับจำเลยโดยนายสิทธิกร เพ็ชรรัก วิศวกรอีกคนหนึ่งของจำเลยซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัทสามารถพรีซีชั่นส์ จำกัด ในชื่อของผู้อื่นตามเอกสารหมาย ล.6 เป็นผู้พิจารณาก็ตาม แต่ตำแหน่งของโจทก์สามารถมีอิทธิพลต่อการติดต่อและเป็นมูลเหตุจูงใจ กับเป็นช่องทางให้โจทก์กระทำประการใดประการหนึ่งที่สามารถเอื้อประโยชน์หรืออนุเคราะห์ประโยชน์ให้แก่บริษัทสามารถพรีซีชั่นส์ จำกัดที่โจทก์ร่วมก่อตั้งเป็นพยานการโอนหุ้น และเข้าประชุมที่บริษัทดังกล่าวแทนภริยาโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งโดยทางอ้อมได้ การกระทำของโจทก์ดังกล่าวถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยคำพิพากษาศาลแรงงานกลางต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.3 หมวดที่ 1 ข้อ 7, 9และหมวดที่ 7 ข้อ 7.13, 7.12, 12 และข้อ 13 และจำเลยมิได้ยกข้อบังคับดังกล่าวเป็นเหตุเลิกจ้างในหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.7 จึงยกเหตุดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การไม่ได้นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าตำแหน่งงานของโจทก์สามารถเอื้ออำนวยหรือหาผลประโยชน์ให้แก่บริษัทสามารถพรีซีชั่นส์ จำกัด ได้ การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามคู่มือพนักงานเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 11 และคำมั่นสัญญาส่วนบุคคลเอกสารหมาย ล.4 หน้าที่ 10ว่าด้วยการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างตามที่จำเลยได้ระบุการกระทำของโจทก์ไว้ในหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.7แม้จำเลยจะไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.3 ข้อใด แต่จำเลยก็มีสิทธิการโดยยกรายละเอียดการกระทำของโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.7 แล้วระบุข้อของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.3 ที่ตรงกับข้อห้ามที่โจทก์กระทำการฝ่าฝืนขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17วรรคสาม ดังนั้น จำเลยจึงยกข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.3 หมวดที่ 1 ข้อ 7, 9 หมวดที่ 7 ข้อ 7.1.3, 7.1.12, 11, 12, 18 ได้ แต่ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนหมวดที่ 7 ข้อ 7.13, 7.12, 13 และจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้างจึงยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การไม่ได้นั้น ศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.3 ในข้อดังกล่าวและจำเลยก็ไม่ได้ให้การไว้ อุทธรณ์โจทก์ในส่วนนี้จึงมิได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง และเป็นการอุทธรณ์เพิ่มเติมข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 และมาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน