คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 599/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรม์ทำก่อนใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำพินัยกรรม์พ.ศ.2475 และก่อนใช้ ป.ม.กฎหมายแพ่ง ฯ บรรพ 6 ต้องบังคับตาม ก.ม.ลักษณะมรดกบทที่ 49 ซึ่งกำหนดให้มีพยายผู้ลุกนั่งอย่างน้อย 3 คน
ในพินัยกรรม์มีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน อีกคนหนึ่งพิมพ์นิ้วมือ แต่ไม่มีพยานรับรอง พยานที่พิมพ์นิ้วมือย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นพยานลุกนั่งตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 9 แต่เมื่อปรากฎว่ามีผู้เขียนลงชื่ออีกคนหนึ่งและเป็นผู้เขียนตามคำบอกของผู้ทำพินัยกรรม์และรู้เห็นขณะนั้นโดยตลอดเช่นนี้ ย่อมสงเคราะห์ผู้เขียนเป็นพยานผู้ลุกนั่งด้วยอีกคนหนึ่งได้พินัยกรรม์จึงมีพยาน 3 คนตามที่กฎหมายกำหนดไว้และย่อมสมบูรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยมิให้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ๓ แปลง โดยอ้างว่าเป็นของโจทก์ ได้มาโดยบิดาทำพินัยกรรมยกให้
จำเลยต่อสู้ว่า พินัยกรรม์ไม่สมบูรณ์ และฟ้องแย้งว่าจำเลยเป็นทายาท ให้เอาที่พิพาทแบ่งกัน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมไม่สมบูรณ์พิพากษาให้แบ่งที่พิพาทแก่โจทก์จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าพินัยกรรม์สมบูรณ์พิพากษากลับให้ห้าม มิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับที่พิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่า บิดาได้ทำพินัยกรรม์ยกที่พิพาทให้โจทก์จริง ส่วนเรื่องพินัยกรรม์จะสมบูรณ์หรือไม่ ปรากฎว่าพินัยกรรม์ทำเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๕ ก่อนใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำพินัยกรรม์ พ.ศ.๒๔๗๕ และก่อนใช้ ป.ม.แพ่ง บรรพ ๖ จึงต้อบังคับตาม ก.ม.ลักษณะมรดกบทที่ ๔๙ ซึ่งกำหนดให้มีพยานผู้ลุกนั่งอย่างน้อย ๓ คน ในพินัยกรรม์นี้มีขุนเนาว์ ฯ นายทองลงชื่อเป็นพยาน นางพาบ พิมพ์นิ้วมือไม่มีพยานรับรอง และลงชื่อนายหยันเป็นผู้เขียน เมื่อเป็นเช่นนี้นางพาบย่อมไม่อยู่ในฐานะเป็นพยาน ผู้ลุกนั่งตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๙ แต่ได้ความตามคำพยานโจทก์ว่า นายหยันได้เขียนตามคำบอกของนายฟักรู้เห็นขณะนั้นโดยตลอด จึงสงเคราะห์ผู้เขียนเป็นพยานผู้ลุกนั่งด้วยอีกคนหนึ่ง ตามนัยแห่งฎีกาที่ ๒๐๘/๒๔๙๘๔ ฉะนั้นพยานในพินัยกรรม์จึงมี ๓ คนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ พินัยกรรม์ย่อมสมบูรณ์
จึงพิพากษายืน

Share