คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญาระหว่างคู่กรณีเพื่อระงับหนี้เดิมแล้วก่อให้เกิดหนี้ใหม่ขึ้นผูกพันกันแทน หนี้เดิมเป็นอันระงับไป แม้โจทก์จะยอมรับเช็คของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ตามเช็คก็มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะไม่มีการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้กันใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงจำเลยที่ 2 เข้าไปเป็นผู้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้เดิมเท่านั้น หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2539 โจทก์ จำเลย นายไพรัช และผู้มีชื่ออีก 16 คน ร่วมกันเล่นแชร์ มีนายไพรัชเป็นนายวงแชร์โดยจำเลยที่ 1 เล่นแชร์ 1 หุ้น แชร์ดังกล่าวเป็นแชร์ 1,000,000 บาท ประมูลแชร์ 300,000 บาท ประมูลแชร์ทุกวันที่ 26 ของทุกเดือน ในครั้งแรกนายวงแชร์จะเก็บเงินจากผู้เล่นแชร์ทุกหุ้นในราคาพิเศษหุ้นละ 1,000,000 บาท เป็นของนายวงแชร์โดยไม่ต้องมีการประมูล และครั้งต่อไปทุกวันที่ 26 ของเดือน นายวงแชร์จะจัดให้ผู้ร่วมเล่นแชร์ประมูลแชร์กัน ผู้เล่นแชร์หุ้นใดประมูลมากกว่าจะเป็นผู้ประมูลแชร์ได้ในครั้งนั้นโดยเริ่มประมูลแชร์ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2549 และนายวงแชร์มีหน้าที่รวบรวมเช็คจากผู้เล่นแชร์นำมามอบให้ผู้ที่ประมูลแชร์ได้ ผู้เล่นแชร์ทุกหุ้นมีหน้าที่ส่งเงินตามจำนวนหุ้น สำหรับผู้ที่ประมูลแชร์ได้แล้วไม่มีสิทธิประมูลแชร์ในครั้งต่อไป และต้องนำส่งเงินตามจำนวนหุ้นให้แก่นายวงแชร์เพื่อนำไปมอบให้ผู้ประมูลแชร์ได้ในครั้งต่อไปจนกว่าจะครบจำนวนหุ้นแชร์ที่เล่นกันทั้งหมด ผู้ที่ประมูลแชร์จะได้รับเงินตามจำนวนหุ้นแชร์หักออกด้วยเงินที่ประมูลแชร์ได้ จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้ในงวดที่ 5 โจทก์และผู้เล่นแชร์คนอื่นได้มอบเช็คไม่ลงวันที่ให้จำเลยที่ 1 โดยผ่านนายวงแชร์ ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้ แชร์ดังกล่าวได้เล่นกันมาจนถึงมือสุดท้ายโดยโจทก์ไม่เคยประมูลแชร์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าแชร์ในงวดสุดท้ายโดยโจทก์นำเช็คของผู้เล่นแชร์ซึ่งรวมทั้งเช็คของจำเลยที่ 1 นำมาลงวันที่ไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าเช็คของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเรียกเก็บได้ ต่อมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2541 จำเลยที่ 2 ยอมชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวรจักร เลขที่ 4754599 ไม่ลงวันที่ จำนวนเงิน 300,000 บาท ให้โจทก์ โจทก์นำเช็คดังกล่าวมาลงวันที่และนำไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากบริษัทไพศาลค้าวัสดุก่อสร้าง (กรุงเทพฯ) จำกัด โดยนายไพรัช กรรมการผู้มีอำนาจเป็นายวงแชร์หรือเป็นผู้จัดให้มีการเล่นแชร์อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 5 และมาตรา 8 โจทก์บรรยายฟ้องว่า แชร์ดังกล่าวมีผู้เล่น 19 หุ้น เป็นแชร์ 1,000,000 บาท ประมูลแชร์ 300,000 บาท จึงเป็นวงแชร์ที่มีเงินทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดเท่ากับ 6,400,000 บาท (1,000,000 + 300,000 X 18) = 6,400,000) ขัดต่อพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 ฉบับลงวันที่ 23 สิงหาคม 2534 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กำหนดทุนกองกลางที่ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท วงแชร์ตามฟ้องจึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และเมื่อวงแชร์ตามฟ้องตั้งขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 7 บัญญัติให้โจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกวงแชร์ต้องไปฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่นายวงแชร์ผู้จัดให้มีการเล่นแชร์โดยฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว มิใช่มาเรียกร้องจำเลยทั้งสอง และนายวงแชร์ก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าแชร์แก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามกฎหมายและประเพณีการเล่นแชร์โดยทั่วไป การที่เช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายชำระค่าแชร์แก่โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บได้ และโจทก์ยอมรับเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายให้เพื่อชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ถือได้ว่ามีหนี้เกิดขึ้นตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่าย อันเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 มีผลให้หนี้ค่าแชร์ซึ่งเป็นหนี้เดิมระงับไป โจทก์จึงไม่มีสิทธินำมูลหนี้ค่าแชร์มาฟ้องจำเลยทั้งสอง คงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามเช็คได้เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 11,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นลูกวงแชร์ มีนายไพรัช เป็นนายวงแชร์และเป็นผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ โดยมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันมากกว่า 300,000 บาท และมีการประมูลแชร์กันตลอดมา จำเลยที่ 1 ประมูลแชร์ได้ในงวดที่ 5 และได้รับเงินไปแล้ว ส่วนโจทก์ได้เงินทุนกองกลางในงวดสุดท้ายโดยไม่ต้องประมูล และจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 300,000 บาท ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ ต่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวรจักร ไม่ลงวันที่สั่งจ่าย จำนวนเงิน 300,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์แทนจำเลยที่ 1 โจทก์นำเช็คดังกล่าวมาลงวันที่และนำไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6
คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกา การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่ระงับนั้น เห็นว่า การแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญาระหว่างคู่กรณีเพื่อระงับหนี้เดิมแล้วก่อให้เกิดหนี้ใหม่ขึ้นผูกพันกันแทน หนี้เดิมเป็นอันระงับไป แม้โจทก์จะยอมรับเช็คของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ตามเช็ค เอกสารหมาย จ.5 ก็ตาม ก็หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ไม่ เพราะไม่มีการตกลงทำสัญญาแปลงหนี้กันใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ไปเป็นจำเลยที่ 2 แต่เป็นเพียงจำเลยที่ 2 เข้าไปเป็นผู้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้เดิมเท่านั้น หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายไม่ได้ ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท

Share