คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5987/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถบรรทุกเสพเมทแอมเฟตามีน โจทก์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพระราชบัญญัติจราจรทางบก และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกต่อมามีประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้เมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ศาลต้องยกฟ้องข้อหานี้และให้ยกคำขอพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ เสพเมทแอมเฟตามีนขับรถบรรทุกเป็นภัยร้ายแรงไม่รอการลงโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรี, 106 ตรีพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102, 102(3 ตรี)127 ทวิ พักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรี, 106 ตรี พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง157 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102,102 (3 ตรี), 127 ทวิ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 พักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด 6 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษและไม่ปรับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะกระทำความผิด การเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรี ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ตรี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เดิมทุกฉบับ และให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไม่มีระบุว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์อีกต่อไป ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีน เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เท่านั้น จึงมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ต้องรับโทษตามมาตรา 91 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 อีกต่อไป อันเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดซึ่งให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรกพิเคราะห์แล้ว ระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 106 ตรี และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91ต่างเป็นคุณต่อผู้กระทำความผิด คือถ้าดูในโทษขั้นสูงแล้วพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 106 ตรี เป็นคุณกว่าเพราะจำคุกอย่างสูงเพียงห้าปี แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ลงโทษอย่างสูงได้ถึงสิบปี แต่ถ้าจะดูโทษขั้นต่ำแล้วพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 เป็นคุณกว่า เพราะจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป แต่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 106 ตรี จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าศาลจะลงโทษจำคุกในอัตราขั้นสูงต้องใช้พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เพราะเป็นคุณแก่จำเลย แต่ถ้าจะจำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำต้องใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพราะเป็นคุณแก่จำเลย คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก6 เดือน การวางโทษอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดคือพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ก็ได้หรือใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดคือพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ก็ได้ เช่นนี้ควรใช้กฎหมายขณะกระทำความผิด ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยมาตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 จึงชอบแล้ว
ส่วนข้อหาความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157 ทวิ วรรคหนึ่ง นั้นเมื่อภายหลังการกระทำความผิดเมทแอมเฟตามีน ไม่เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแต่ได้เปลี่ยนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว และพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติลงโทษผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษดังกล่าวเช่นพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 แล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185, 215 และ 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่ง และให้ยกคำขอพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด 6 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share