คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับเงินจำนวน 40,000 บาท ไปจากโจทก์และได้ทำบันทึกไว้ให้แก่โจทก์ ระบุไว้ทำนองว่า เงิน 40,000 บาท ที่จำเลยเอาไปถ้า ป. (หมายถึงพี่สาวจำเลย) ไม่สามารถส่งให้ทันสิ้นเดือนธันวาคม2537 จำเลยจะค้ำประกันรับผิดชอบให้ ลงชื่อจำเลยผู้ยืมและโจทก์ผู้ให้ยืม สำหรับคำว่า จำเลยจะค้ำประกันรับผิดชอบให้ หมายถึงจำเลยรับรองจะคืนเงินให้นั่นเอง หากพิจารณาข้อความในเอกสารดังกล่าวทั้งหมดแล้ว ก็จะได้ความว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ดังความในตอนท้ายที่ลงชื่อว่าผู้ยืมและผู้ให้กู้ยืม และปรากฏข้อความว่าจำเลยได้รับเงิน 40,000 บาท ไปจากโจทก์แล้วหากภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2537 ถ้าพี่สาวจำเลยไม่ใช้ให้จำเลยรับรองและรับผิดชอบจะคืนให้ กรณีจึงมีความหมายเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
หลักฐานการกู้ยืมเงินกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ในวันสิ้นเดือนธันวาคม 2537 ซึ่งก็คือวันที่ 31 ธันวาคม 2537เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2537 จำเลยกู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 40,000 บาท โดยตกลงว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งหมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2537 ครั้นครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยไม่ชำระซึ่งเป็นหนี้ต้นเงินโจทก์จำนวน40,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 31ธันวาคม 2537 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,064.63 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 43,064.63 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน43,064.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์และไม่เคยทำสัญญากู้ยืมเงินหรือสัญญาใด ๆ ไว้ต่อโจทก์ บันทึกตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นเอกสารที่โจทก์ได้สมคบกับบุคคลอื่นทำปลอมขึ้น ลายมือชื่อผู้กู้ยืมไม่ใช่ลายมือชื่อที่แท้จริงของจำเลยโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 40,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงเป็นการต้องห้ามมิให้คู่ความหรือจำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้รับเงินจำนวน 40,000 บาท ไปจากโจทก์และได้ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.1 ไว้ให้แก่โจทก์

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า บันทึกตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินหรือไม่ เห็นว่าตามบันทึกเอกสารหมาย จ.1 ระบุไว้ทำนองว่า เงิน 40,000 บาทที่จำเลยเอาไป ถ้าครูปราณี (หมายถึงพี่สาวจำเลย) ไม่สามารถส่งให้ทันสิ้นเดือนธันวาคม 2537 จำเลยจะค้ำประกันรับผิดชอบให้ลงชื่อจำเลยผู้ยืมและโจทก์ผู้ให้ยืม สำหรับคำว่า จำเลยจะค้ำประกันรับผิดชอบให้นั้นน่าจะหมายถึงว่าจำเลยรับรองจะคืนเงินให้นั่นเอง ดังนั้นหากพิจารณาข้อความในเอกสารดังกล่าวทั้งหมดรวมกันแล้ว ก็จะได้ความในลักษณะที่ว่าจำเลยเป็นผู้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ดังความในตอนท้ายที่ลงชื่อว่าผู้ยืมและผู้ให้กู้ยืม และปรากฏข้อความว่าจำเลยได้รับเงิน 40,000 บาท ไปจากโจทก์แล้วหากภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2537 ถ้าพี่สาวจำเลยไม่ใช้ให้จำเลยรับรองและรับผิดชอบจะคืนให้ กรณีจึงมีความหมายเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง

อนึ่ง ตามหลักฐานการกู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ในวันสิ้นเดือนธันวาคม 2537 ซึ่งก็คือวันที่ 31ธันวาคม 2537 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จึงถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2537 จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,200 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share