แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 บัญญัติถึงการริบทรัพย์ในการกระทำความผิดเฉพาะความผิดตามมาตรา 27 ซึ่งบทมาตราทั้งสองใช้บังคับพร้อมกันในขณะนั้น ต่อมาเมื่อมีการบัญญัติความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ในภายหลังเมื่อปี 2499 ซึ่งมีลักษณะการกระทำความผิดต่างหากจากความผิดมาตรา 27 จึงนำบทบัญญัติการริบทรัพย์ตามมาตรา 32 มาใช้บังคับเพื่อริบทรัพย์ของกลางคดีนี้ที่จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ไม่ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยกับพวกใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะขนย้ายบรรทุกโทรศัพท์เคลื่อนที่และแบตเตอรี่บางส่วนไปจำหน่าย ย่อมไม่ใช่การใช้รถยนต์ของกลางในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรง จึงไม่ใช่ทรัพย์ซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 33
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 115, 117 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2, 24, 27 ทวิ, 32 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม จำคุก 4 เดือน และปรับ 28,000 บาท ฐานร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ปรับ 329,779.20 บาท รวมจำคุก 4 เดือน และปรับ 357,774.20 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 178,889.60 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นรถยนต์ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบรถยนต์ของกลางตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 บัญญัติถึงการริบทรัพย์ในการกระทำความผิดเฉพาะความผิดตามมาตรา 27 ซึ่งบทมาตราทั้งสองใช้บังคับพร้อมกันในขณะนั้น ต่อมาเมื่อมีการบัญญัติความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ในภายหลังเมื่อปี 2499 ซึ่งมีลักษณะการกระทำความผิดต่างหากจากความผิดมาตรา 27 จึงนำบทบัญญัติการริบทรัพย์ตามมาตรา 32 มาใช้บังคับเพื่อริบทรัพย์ของกลางคดีนี้ที่จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ไม่ได้ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยกับพวกใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะขนย้ายบรรทุกโทรศัพท์เคลื่อนที่และแบตเตอรี่บางส่วนไปจำหน่าย ย่อมไม่ใช่การใช้รถยนต์ของกลางในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรงจึงไม่ใช่ทรัพย์ซึ่งได้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาไม่ริบรถยนต์ของกลางนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน