แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เจ้าของที่ดินพิพาทคนเดิมแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์และยอมให้ประชาชนทั่วไปใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางสัญจรไปมาเป็นเวลาหลายสิบปี ย่อมถือได้ว่ามีเจตนาอุทิศให้ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะโดยปริยายมาตั้งแต่ต้นแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ย่อมมีผลทันทีโดยไม่จำต้องจดทะเบียนเป็นทางสาธารณประโยชน์อีก และย่อมไม่สามารถโอนให้แก่กันได้โดยทางนิติกรรม แม้จำเลยจะได้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดิม
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นกรณีราษฎรฟ้องกันเองขอให้บังคับว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะและให้จำเลยรื้อแผงเหล็กออกไป จัดการให้ทางพิพาทใช้ได้ดังเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์จัดการแทนโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ ให้จำเลยรื้อถอนแผงเหล็กที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป และจัดการให้ใช้ได้เหมือนเดิม กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาส่วนที่ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 3,000 บาท และชั้นอุทธรณ์ 2,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า เดิมพลตรีเฉลิมได้จัดสรรที่ดินขายในโครงการหมู่บ้านชินเขตเพื่อเป็นสวัสดิการของข้าราชการกรมการขนส่งทหารบกโดยกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ให้เป็นถนนเพื่อเป็นทางเข้าออกสำหรับที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกขาย การจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นสวัสดิการของข้าราชการดังกล่าวจึงไม่เหมือนกับการจัดสรรที่ดินเพื่อขายรายอื่น ๆ ที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์แต่ถ่ายเดียว เมื่อพิจารณาคำขออุทิศให้ที่ดินเป็นทางสาธารณะฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2525 ของพันตำรวจเอกชัยช่วยกับต่อมานางอรรจนาผู้จัดการมรดกพันตำรวจเอกชัยช่วยแสดงเจตนายกที่ดินที่มีสภาพเป็นถนนในหมู่บ้านชินเขตให้เป็นทางสาธารณะในปี 2529 ซึ่งล้วนเป็นเหตุการที่เกิดขึ้นก่อนจำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดทั้งสิ้น ประกอบกันแล้วล้วนเจือสมกับเจตนาเดิมของพลตรีเฉลิมที่จัดสรรที่ดินเพื่อเป็นสวัสดิการของข้าราชการกรมการขนส่งทหารบกอย่างแท้จริง ดังนั้นการที่พันโทธีรฉัตรผู้จัดการมรดกของพลตรีเฉลิมแสดงเจตนาอุทิศที่ดินแปลงที่กันไว้เป็นทางในหมู่บ้านชินเขตให้เป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการย้ำเจตนาของพลตรีเฉลิมเจ้ามรดกให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น หาได้ทำให้การแสดงเจตนาอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายของพลตรีเฉลิมซึ่งมีอยู่เดิมต้องเสียไปแต่อย่างใด อีกประการหนึ่ง การที่บุคคลที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชินเขตได้ใช้ที่ดินที่เป็นถนนหรือเป็นซอยรวมทั้งที่ดินที่เป็นซอยพิพาทเข้าออกอย่างทางสาธารณะตลอดมาตั้งแต่เริ่มสร้างหมู่บ้านชินเขต จนถึงวันที่จำเลยได้ซื้อที่ดินส่วนที่เป็นทางพิพาทมาจากการขายทอดตลาดและเกิดเหตุคดีนี้ขึ้นในภายหลังเป็นเวลานานกว่า 10 ปี โดยมิได้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดโต้แย้งหรือขัดขวางนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวก็ล้วนเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ทำให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า พลตรีเฉลิมเจ้าของที่ดินเดิมยอมให้ประชาชนทั่วไปใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางสัญจรไปมาเป็นเวลาช้านานหลายสิบปีย่อมถือได้ว่ามีเจตนาอุทิศให้ที่ดินพิพาทที่เป็นทางในซอย 2/18 เป็นทางสาธารณะโดยปริยายมาตั้งแต่ต้นแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า ทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของแผ่นดินเสียก่อนนั้น เห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ย่อมมีผลทันทีโดยไม่จำต้องจดทะเบียนเป็นทางสาธารณประโยชน์อีก
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทโดยการซื้อมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่ดินพิพาทจึงมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ย่อมไม่สามารถโอนให้แก่กันได้โดยทางนิติกรรม แม้จำเลยจะได้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดิม จำเลยจึงไม่มีสิทธินำแผ่นเหล็กมาปิดกั้นที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลย ซึ่งเป็นกรณีราษฎรฟ้องกันเอง ขอให้บังคับว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะและให้จำเลยรื้อแผงเหล็กออกไปจากที่ดินพิพาท เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. บัญญัติให้ศาลกำหนดค่าทนายความอัตราขั้นสูงสุดในชั้นอุทธรณ์ไว้เพียง 1,500 บาท แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยชำระแทน 2,500 บาท จึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาย่อมกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้
พิพากษายืน แต่ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท และในชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์.