แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 35 (7) กำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความต้องไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าเมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการสภาทนายความว่า ทนายความผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 35 ให้ทนายความผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นทนายความและให้คณะกรรมการทนายความจำหน่ายชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความ อันมีผลให้ทนายความผู้นั้นขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 (4) เมื่อยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสภาทนายความได้จำหน่ายชื่อ ณ. ออกจากทะเบียนทนายความ ณ. จึงยังไม่ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 ดังนั้นกระบวนพิจารณาของศาลที่ ณ. เป็นทนายความจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ ณ. ทนายความจำเลยที่ 2 ได้โดยชอบจึงถือว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 ทราบนัดแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิด จำเลยที่ 2 แต่งนายณัฐสัญญ์ เป็นทนายความเข้าสู้คดี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ หลังจากอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ทนายความจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายคำพิพากษาและขอขยายระยะเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องโดยขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ 2 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2556 แต่จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ขยาย วันที่ 28 มกราคม 2556 ทนายความจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาอีกครั้ง ศาลชั้นต้นยกคำร้องและออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 นายพงษ์สรรพ์ ทนายความจำเลยที่ 2 คนใหม่ยื่นคำร้องว่าศาลล้มละลายสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายณัฐสัญญ์ทนายความจำเลยที่ 2 คนเดิมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 และต่อมามีคำพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 นายณัฐสัญญ์จึงขาดคุณสมบัติเป็นทนายความ การที่นายณัฐสัญญ์ยังคงปฏิบัติหน้าที่ทนายความต่อมา จึงไม่ชอบ เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้เปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2555 การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาและการส่งคำบังคับแก่จำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2553 แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 35 (7) กำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความต้องไม่เป็นบุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการสภาทนายความว่า ทนายความผู้ใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 35 ให้ทนายความผู้นั้นพ้นสภาพการเป็นทนายความและให้คณะกรรมการสภาทนายความจำหน่ายชื่อทนายความผู้นั้นออกจากทะเบียนทนายความ อันมีผลให้ทนายความผู้นั้นขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 (4) เมื่อยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสภาทนายความได้จำหน่ายชื่อนายณัฐสัญญ์ ออกจากทะเบียนทนายความ นายณัฐสัญญ์จึงยังไม่ขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44 ดังนั้น กระบวนพิจารณาของศาลที่นายณัฐสัญญ์เป็นทนายความจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และเมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้นายณัฐสัญญ์ ทนายความจำเลยที่ 2 ได้โดยชอบจึงถือว่าฝ่ายจำเลยที่ 2 ทราบนัดแล้ว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า เมื่อนายณัฐสัญญ์ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ล้มละลาย ย่อมขาดคุณสมบัติการเป็นทนายความ หากกระทำการใดเกี่ยวกับหน้าที่ทนายความต่อไปย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและเมื่อนายณัฐสัญญ์ไม่สามารถทำหน้าที่ทนายความต่อไปได้แล้ว การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้แก่นายณัฐสัญญ์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบนัดโดยชอบ นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ