คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 598/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์เมื่อศาลตรวจฟ้องถูกต้องตาม ป.วิ.อาญา ม.158และสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วก็ถือเป็นฟ้องตาม ก.ม.และจะถือว่าผู้ถูกฟ้องยังไม่เป็นจำเลยหาได้ไม่ หากแต่ได้รับผ่อนผันยกเว้นสำหรับการดำเนินคดีในเบื้องต้นเท่านั้น ฉนั้นถ้าจะเป็นฟ้องเท็จก็อาจเป็นผิดตาม ก.ม.อาญา ม.158,159 ได้คดีอาญาที่คู่ความเพียงแต่อ้างสำนวนการพิจารณาในคดีอื่นมาเป็นพยานหลักฐานในคดีหลังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการพิจารณาและสืบพยานในศาลตาม ป.วิ.อาญา. ม.172

ย่อยาว

คดี ๓ สำนวนนี้มูลกรณีเดิมจำเลยฟ้องนายหมวก นายหนำ นายก้อนว่าเบิกความเท็จ นายหมวก นายหนำ นายก้อนจึงร้องต่ออำเภอว่าจำเลยฟ้องเท็จ จำเลยจึงตกลงกับคนทั้ง ๓ ถอนฟ้องคดีก่อนไต่สวนมูลฟ้อง บุคคลทั้ง ๓ ก็ไปถอนคำร้องทุกข์แต่ทางอำเภอไม่ยอมจึงมาเกิดเป็นคดีเรื่องนี้ขึ้น ในชั้นพิจารณาโจทก์จำเลยตกลงรับยืนยันความจริงตามคำเบิกความของพยานแต่ละฝ่ายที่ลืมไปสำนวนก่อน และจำเลยยอมให้ถือว่าการสืบพยานในคดีก่อนเป็นการกระทำต่อหน้าจำเลยในคดีนี้ ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานพิพากษายกฟ้องทั้ง ๓ สำนวน โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินการพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยและพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกาข้อ ๑. ว่าฟ้องของจำเลยที่ฟ้องนายหมวกนายหนำ นายก้อน เรื่องเบิกความเท็จยังไม่ได้ไต่สวน ยังไม่เป็นฟ้อง ตาม ก.ม. ข้อ ๒. ว่าโจทก์จำเลยยืนยันตามความจริงของคำพยานที่สืบไปแล้วในสำนวนก่อนและจำเลยให้ถือว่ามีผลเท่ากับพิจารณาต่อหน้าจำเลยในคดีนี้ ไม่จำต้องสืบซ้ำข้อเท็จจริงอีก
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อ ๑. ตามฟ้องฉบับนั้นถูกต้องตามบัญญัติไว้ใน ม.๑๕๘ ป. วิ.อาญาโดยครบถ้วนนับว่าเป็นฟ้องตาม ก.ม. การที่ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์นั้นเป็นลักษณะของการพิจารณาในเบื้องต้นที่จะต้องพิเคราะห์มูลคดีเสียขั้นหนึ่งก่อน ถ้าฟ้องฉบับนั้นไม่ต้องด้วยลักษณะของฟ้องแล้วศาลก็ไม่ต้องนัดไต่สวน สั่งยกเสียได้ทีเดียว เมื่อศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องก็หมายความว่า รับไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว และการไต่สวนมูลฟ้องจะถือว่าผู้ถูกฟ้องยังไม่เป็นจำเลยไม่ได้ดั่ง ม.๒ ข้อ ๓. ป.วิ.อาญา วิเคราะห์ศัพท์ไว้ว่า “จำเลยหมายถึงบุคคลที่ถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด”
ข้อ ๒ หลักในการพิจารณาความอาญา ป.วิ.อาญา.ม. ๑๗๒ มีว่า “การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย” แต่คดี ๓ สำนวนนี้ยังมิได้มีการพิจารณาและสืบพยานในศาล หากแต่คู่ความอ้างสำนวนการพิจารณาในคดีอื่นมาขอให้ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี ๓ สำนวนหลังนี้ ซึ่งความจริงมิใช่เป็นการพิจารณาและสืบพยานตาม ก.ม.บัญญัติไว้ เห็นว่าปฏิบัติการคลาดเคลื่อนต่อ ก.ม.
จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share