แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การจะได้รับยกเว้นภาษีการค้าหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.03.3 หรือภ.พ.03.5ภายในวันที่31มกราคม2535เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบภ.พ.03.5 ในวันที่ 31 มกราคม 2535 โจทก์จึงได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลาแล้วดังนั้น แม้โจทก์ทำบันทึกขอลดเบี้ยปรับ บันทึกยินยอมชำระภาษีอากรหรือขอผ่อนชำระภาษีอากรให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ก็คงมีอำนาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มทั้ง 17 ฉบับ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทุกฉบับกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินภาษีมีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระไปแล้วให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ชำระจนกว่าจะคืนให้โจทก์แล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเลขที่ 8403/5/100018, 8483/5/100080, 8404/5/100006, 8401/5/100404, 8401/5/100406, 8401/5/100408, 8401/5/100410,8401/5/100412, 8401/5/100414, 8401/5/100416, 8401/5/100418, 8401/5/100420, 8401/5/100422, 8401/5/100424, 8401/5/100426, 8401/5/100428, 8401/5/100430 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 8403/5/100176, 8483/5/100177, 8404/5/100178, 8401/5/100179, 8401/5/100180, 8401/5/100181, 8401/5/100182, 8401/5/100183,8401/5/100184, 8401/5/100185, 8401/5/100186, 8401/5/100187, 8401/5/100188, 8401/5/100189, 8401/5/100190, 8401/5/100191, 8401/5/100192 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ทุกจำนวน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกคำขอของโจทก์นอกจากนี้
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการค้าขายรถจักรยานยนต์ประเภทซื้อมาขายไป มิใช่ผู้ผลิตหรือนำเข้า เมื่อวันที่ 31 มกราคม2535 โจทก์มอบหมายให้พนักงานของสำนักงานบัญชีศรีศักดิ์รักญาตินำแบบคำขอยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือ ภ.พ.03.3 ไปยื่นต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ณ สำนักงานสรรพากร อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1รับแบบคำขอยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวของโจทก์ไว้แล้วพร้อมกับแบบคำขอยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือ ภ.พ.03.3 และแบบคำขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.03.5 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ.พี.กลการ บริษัทโตโยต้ากระบี่ จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด กระบี่กลการ ซึ่งมอบหมายให้พนักงานของสำนักงานบัญชีศรีศักดิ์รักญาตินำไปยื่น จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ประการแรกว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบคำขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มภ.พ.03.5 ในวันที่ 31 มกราคม 2535 โจทก์มีนางสาวเกษิณีและนายเอกชัย พนักงานของสำนักงานบัญชีศรีศักดิ์รักญาติมาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า ร่วมกันนำแบบคำขอรับสิทธิเสียภาษีการค้าและหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.03.5 และแบบคำขอยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือ ภ.พ.03.3 อย่างละ 3 ชุด ของโจทก์ไปยื่นต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ไว้แล้วพร้อมกับแบบคำขอของนิติบุคคลอื่น เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 รับไว้แล้วคืนแบบคำขออย่างละ 1 ชุด แก่พยานโดยไม่ได้ลงรับไว้ที่มุมบนด้านขวามือ ส่วนจำเลยทั้งสามมีนางจริยา เจ้าหน้าที่สรรพากร 3 ประจำสำนักงานสรรพากรอำเภอเมืองกระบี่มาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่า พนักงานของสำนักงานบัญชีศรีศักดิ์รักญาตินำแบบ ภ.พ.03.3 ของโจทมายื่น พยานลงทะเบียนรับไว้ในสมุดทะเบียนรับเอกสาร ปรากฏตามสำเนาเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 31 จากนั้นจึงนำเลขที่รับมาลงไว้ที่มุมบนด้านขวามือของแบบ ภ.พ.03.3 ทั้ง 3 ชุด และมอบแบบ ภ.พ.03.3 ชุดหนึ่งคืนผู้มายื่น พนักงานของสำนักงานบัญชีดังกล่าวไม่ได้นำแบบ ภ.พ.03.5 ของโจทก์มายื่นหากนำมายื่นจะต้องปรากฏหลักฐานในสมุดทะเบียนรับเอกสารและปรากฏเลขที่รับที่มุมบนด้านขวามือของแบบ ภ.พ.03.5 ชุดที่มอบคืนโจทก์ เห็นว่า โจทก์โดยสำนักงานบัญชีศรีศักดิ์รักญาติทราบก่อนแล้ว่าการจะได้รับยกเว้นภาษีการค้าหรือภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 จะต้องยื่นแบบ ภ.พ.03.3 หรือ ภ.พ.03.5 ภายในวันที่ 31 มกราคม 2535 ตามสำเนาทะเบียนรับเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 31 ปรากฏว่า โจทก์โดยสำนักงานบัญชีศรีศักดิ์รักญาติยื่นแบบภ.พ.03.3 ไว้แล้ว จึงน่าเชื่อว่าโจทก์โดยสำนักงานบัญชีศรีศักดิ์รักญาติได้ยื่นแบบภ.พ.03.5 ต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ไว้แล้วเช่นกัน พร้อมกับแบบ ภ.พ.03.5 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ.พี.กลการ และของบริษัทโตโยต้ากระบี่ จำกัด ที่ไม่ปรากฏหลักฐานในสมุดทะเบียนรับเอกสารก็อาจเป็นเพราะแบบ ภ.พ.03.5 ของโจทก์หายหลังจากยื่นแล้วก่อนมีการลงรับ เนื่องจากปรากฏจากคำเบิกความของนางจริยาว่าในวันนั้นมีผู้มายื่นแบบเป็นจำนวนมาก ส่วนที่ไม่ปรากฏหลักฐานเลขที่รับที่มุมบนด้านขวามือของแบบ ภ.พ.03.5ชุดที่มอบคืนโจทก์ โจทก์ก็มีนายเจษฎา มโนมัยลาภ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดเจ.พี.กลการ มาเป็นพยานเบิกความว่า แบบ ภ.พ.03.3 และ ภ.พ.03.5 ชุดที่พยานได้รับคืนจากเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏเลขที่รับที่มุมบนด้านขวามือของแบบเช่นกันข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.03.5 ในวันที่ 31 มกราคม 2535 โจทก์จึงได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า โจทก์ทำบันทึกขอลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม บันทึกยินยอมชำระภาษีอากรและขอผ่อนชำระภาษีอากรไว้แก่จำเลยที่ 1โจทก์จึงไม่อาจโต้แย้งและขอลดหย่อนภาษีได้อีก เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้อง โจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลาแล้วดังนั้น แม้โจทก์ทำบันทึกขอลดเบี้ยปรับ บันทึกยินยอมชำระภาษีอากรหรือขอผ่อนชำระภาษีอากรให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ก็คงมีอำนาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2)
พิพากษายืน