คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คมอบให้โจทก์เพื่อชำระราคาที่ดินอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 แต่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา ปรากฏว่าพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 3ได้บัญญัติยกเลิก พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 และเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์จำกัดสาขามหาสารคามเลขที่ 4955504 เลขที่ 4956246 ลงวันที่ 5มีนาคม 2532 ทั้ง 2 ฉบับ และเลขที่ 4955505 ลงวันที่ 5 เมษายน2532 สั่งจ่ายเงินฉบับละ 50,000 บาท มอบให้แก่นายประจักษ์ วิริยะผู้เสียหาย เพื่อเป็นการชำระค่าซื้อที่ดิน ต่อมาวันที่ 15พฤษภาคม 2532 เวลากลางวันผู้เสียหายนำเช็คทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 3 ฉบับโดยให้เหตุผลว่า บัญชีปิดแล้วจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เหตุเกิดที่ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคามจังหวัดมหาสารคาม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายประจักษ์ วิริยะ ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 รวม 2 กรรมลงโทษจำคุกกรรมละ 9 เดือน รวมจำคุก 18 เดือน คำให้การจำเลยที่ยอมรับว่าเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คตามฟ้องเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 13 เดือน 15 วัน
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาเกี่ยวกับเช็คเอกสารหมาย จ.3 จ.4 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีจึงฟังได้ดังโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 จ.4 มอบให้โจทก์ร่วมเพื่อชำระราคาที่ดินอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้น
เนื่องจากขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 3 ได้บัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวม 2 กระทง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share