คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5968/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองไม่เต็มตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ คงมีแต่จำเลยที่ 1 ที่อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ทั้งสองเพียงแต่ยื่นคำแก้อุทธรณ์เท่านั้น แม้ในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์จะกล่าวว่าโจทก์ไม่พอใจค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เท่ากับโจทก์พอใจตามจำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงพิพากษายืน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำปัญหาเรื่องเดียวกันนี้ขึ้นว่ากล่าวในคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองให้สูงขึ้นอีก

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 622,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และร่วมกันรื้ออาคารที่ก่อสร้างใหม่ของจำเลยที่ 1 ให้กลับคืนสู่สภาพบ้านแฝดดังเดิม
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 152,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2543 (ที่ถูก วันที่ 31 มกราคม 2538) แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 22,500 บาท และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 มกราคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง 152,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งไม่เต็มตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น คงมีแต่จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ทั้งสองก็เพียงแต่ยื่นคำแก้อุทธรณ์เท่านั้น แม้ในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์จะกล่าวว่าโจทก์ไม่พอใจค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ก็ตาม โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เท่ากับโจทก์พอใจตามจำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงพิพากษายืน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำปัญหาเรื่องเดียวกันนี้ขึ้นว่ากล่าวในคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองให้สูงขึ้นอีก ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสอง

Share