แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยมีอาวุธปืนติดตัวและการที่จำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวจี้ขู่เข็ญ ป. จนทำให้ตก ใจกลัว เป็นการกระทำที่มีเจตนาแยกจากกันได้ เป็นความผิดต่างกรรม ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) คำพิพากษาต้องมีคำวินิจฉัยเรื่องของกลางด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จับจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนของกลางที่ใช้กระทำผิด และท้ายฟ้องมีคำขอให้ศาลริบอาวุธปืนของกลางด้วย ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยเรื่องอาวุธปืนของกลางและไม่สั่งริบอาวุธปืนอันเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจแก้ เสียให้ถูกต้องได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองสั้นขนาด 12 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนอาวุธปืนของนายทะเบียนประทับ ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย จำเลยซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานได้บังอาจพาอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ดังกล่าวติดตัวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรโดยจำเลยมิได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว และมิใช่กรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และจำเลยบังอาจใช้อาวุธปืนที่จำเลยพาติดตัวไปดังกล่าวจี้ขู่เข็ญนายประพจน์ที่บริเวณขมับขวาจนทำให้นายประพจน์เกิดความตกใจกลัว ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 91, 392 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 21526 มาตรา 4 และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 91, 392 ที่แก้ไขแล้ว เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครองครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุก 4 เดือน ฐานทำให้ผู้อื่นตกใจกลัวโดยการขู่เข็ญ จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 5 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 8 เดือน 15 วัน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน แต่ให้ริบของกลาง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยพาอาวุธปืนติดตัวและใช้อาวุธปืนดังกล่าวจี้ขู่เข็ญนายประพจน์จันทวงษ์ จนทำให้ตกใจกลัว เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยฎีกาได้ แม้มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลล่าง และการที่จำเลยมีอาวุธปืนติดตัวและการใช้อาวุธปืนดังกล่าวจี้ขู่เข็ญนายประพจน์จนทำให้ตกใจกลัวนั้น เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะพาอาวุธปืนติดตัวและมีเจตนาที่จะใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญนายประพจน์แยกจากกันได้ ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นความผิดต่างกรรมกันเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำผิดต่างกรรมกัน จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลย่อมลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสองตามฎีกาของจำเลยมีว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษาให้ริบอาวุธปืนของกลาง และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาคม 2 มีอำนาจพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของกลางได้หรือไม่ เห็นว่า ฟ้องของโจทก์บรรยายไว้ชัดเจนว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยอาวุธปืนที่จำเลยมีพาติดตัว กับใช้กระทำความผิดและท้ายฟ้องมีคำขอให้ศาลสั่งริบอาวุธปืนของกลาง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องมีข้อสำคัญเหล่านี้เป็นอย่างน้อย (9) คำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง” ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยเรื่องอาวุธปืนของกลางและไม่สั่งริบเมื่ออาวุธปืนของกลางอันเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด จึงเป็นการไม่ชอบ แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจแก้เสียให้ถูกต้องได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษา.