คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยที่ 1 ถูก บ.ฟ้องฐานละเมิดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนและเรียกทรัพย์คืน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่ บ. จำเลยที่ 1 และ บ.ต่างยื่นฎีกา สำหรับจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความร่วมกับทนายความคนเดิมของจำเลยที่ 1 ดำเนินคดีในชั้นฎีกาโจทก์จึงได้ทำคำแก้ฎีกาและทำคำร้องขอทุเลาการบังคับชั้นฎีกายื่นต่อศาลส่วนคำฟ้องฎีกานั้นโจทก์ก็เป็นผู้ยกร่างฎีกาเป็นบางส่วน ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับโดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องมีหลักประกันมาวางศาล และจำเลยที่ 1 ไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ บ. เช่นนี้การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในชั้นฎีกาถือได้ว่ามีส่วนเป็นผลให้งานสำเร็จเป็นส่วนใหญ่
การที่ศาลฎีกาจะพิจารณาพิพากษาคดี ย่อมต้องพิจารณาจากคำฟ้องฎีกาและคำแก้ฎีกาเป็นสำคัญก่อน แล้วจึงพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนจึงจะวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินได้ หาใช่ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนแต่อย่างเดียวไม่
การคิดจำนวนสินจ้างจำเป็นต้องตีความสัญญาให้เป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีทั่วไปด้วย และโดยที่คดีที่โจทก์รับจ้างว่าความมีทุนทรัพย์เกือบถึง 100,000,000 บาท จำเลยที่ 1แพ้คดีศาลล่างทั้งสองศาลมาแล้ว และโจทก์ตั้งที่ปรึกษาหลายคนเป็นคณะทำงานประกอบกับต้องทำงานอย่างรีบเร่ง เพื่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของจำเลยที่ 1ที่ประกอบธุรกิจธนาคารที่ถูกลูกค้าของธนาคารฟ้องฐานละเมิด หากจำเลยที่ 1จะจ้างทนายความอื่นก็น่าจะต้องเสียค่าจ้างไม่น้อยกว่าที่จ้างโจทก์ จึงเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท นั้น เป็นจำนวนพอสมควรแล้ว

Share