คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้ยื่นประเมินภาษีโรงเรือนต่อเทศบาลสำหรับโรงเรือนอันเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยและภริยาจำเลย โดยมิได้ระบุว่าจำเลยกระทำการแทนผู้ใด เมื่อจำเลยได้รับแจ้งการประเมิน ยังยอมรับว่าค้างชำระค่าภาษีอยู่จริง โดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ถือว่าการประเมินภาษีนั้นถูกต้องแล้ว โรงเรือนนั้นเป็นสินสมรสจำเลยย่อมเป็นเจ้าของร่วมในโรงเรือนนั้นด้วย จำเลยอยู่ในฐานะผู้จัดการสินบริคณห์ และได้กระทำไปในฐานะเป็นผู้รับประเมิน จึงเป็นผู้มีหน้าที่พึงชำระค่าภาษีค้างชำระนั้นให้เทศบาล จะผลักภาระการชำระค่าภาษีให้ตกแก่ภริยาจำเลยหาได้ไม่ เพราะภริยาจำเลยไม่ใช่ผู้รับประเมินซึ่งมีหน้าที่ชำระค่าภาษีต่อเทศบาล
ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส หากจำเลยจะกล่าวอ้างเป็นอย่างอื่น เช่นว่า เป็นสินส่วนตัวของภริยาจำเลยจำเลยจำต้องยกขึ้นเป็นประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การโดยชัดแจ้ง มิฉะนั้นแล้วจำเลยก็ไม่มีประเด็นสืบ
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 40วางหลักว่า เจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้เสียค่าภาษี เท่ากับต้องรับภาระภาษีโดยตรง เจ้าของจะผลักภาระภาษีให้ผู้เช่าหรือผู้ครองทรัพย์สินเสียไม่ได้ หาใช่ข้อตัดสิทธิมิให้เทศบาลเรียกร้องเอาค่าภาษีจากจำเลยผู้รับประเมินแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีอำนาจเก็บภาษีโรงเรือนภายในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมาให้เป็นไปตามกฎหมาย จำเลยเป็นเจ้าของโรงเรือนและที่ดินในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา ได้ยื่นประเมินภาษีจากรายได้โรงเรือนเมื่อปี พ.ศ. 2506 ถึง พ.ศ. 2510 โจทก์ได้แจ้งยอดภาษีโรงเรือนให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยคงค้างชำระภาษีโรงเรือนปี พ.ศ. 2506 ถึง พ.ศ. 2510 รวมเป็นเงิน 9,957.07 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษี 9,957.07 บาทแก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ค้างค่าภาษีโรงเรือน โรงเรือนและที่ดินเป็นของนางสอาด ศรีนาค โดยนางสอาดได้รับการยกให้โดยเสน่หาจากหมื่นประพันธ์นางสุนบิดามารดา จำเลยเป็นเพียงตัวแทน ขอให้ยกฟ้องโจทก์

นัดชี้สองสถาน จำเลยรับว่าได้ยื่นประเมินภาษีสำหรับโรงเรือนเลขที่ 1561-1563 ไว้ต่อโจทก์ และค้างชำระค่าภาษีอยู่จริง จำเลยกับนางสอาดเป็นสามีภริยากันมาเป็นเวลาประมาณ 20 ปีแล้ว และในการยื่นประเมินภาษีนั้น จำเลยมิได้ระบุไว้ว่ากระทำแทนใคร

ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อน

ในวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยแถลงรับต่อไปว่าได้จดทะเบียนสมรสกับนางสอาดเมื่อ พ.ศ. 2485 และได้รับการยกให้โรงเรือนและที่ดินเมื่อพ.ศ. 2498 แล้วศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โรงเรือนรายนี้เป็นสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1462 จำเลยผู้เป็นสามีย่อมเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ตามมาตรา 1468 ทั้งจำเลยเป็นผู้ยื่นประเมินภาษีไม่ได้ระบุว่ากระทำแทนใคร ถือได้ว่ากระทำในฐานะผู้จัดการสินบริคณห์ จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าภาษีให้โจทก์เป็นเงิน 9,957.07 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในจำนวนเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 300 บาทแทนโจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้นางสอาดภริยาจำเลยจะได้รับการยกให้ระหว่างที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โรงเรือนและที่ดินอาจไม่ใช่สินบริคณห์เสมอไป หากผู้ยกให้ระบุให้เป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1464 จำเลยก็จัดการไม่ได้ ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษี เพราะพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 40 ให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเป็นผู้เสียภาษี ปรากฏว่าจำเลยขอเลื่อนคดี ศาลอุทธรณ์เห็นควรให้จำเลยเลื่อนคดี เพื่อจะได้นำสืบว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าของโรงเรือนและที่ดินซึ่งไม่ต้องรับผิดใช้ค่าภาษี พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปความ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยไปรับแบบพิมพ์จากเทศบาลมากรอกรายการยื่นเสียภาษีโรงเรือนนั้น ได้กระทำไปในฐานะผู้รับประเมินผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เพราะพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 19 บัญญัติกำหนดหน้าที่เฉพาะผู้ถือกรรมสิทธิ์เท่านั้นที่จะยื่นได้ เพราะผู้ยื่นจะต้องแสดงความจริงตามรายการที่กรอกลงไป มิฉะนั้นอาจมีความผิดฐานยื่นข้อความเท็จตามมาตรา 48 ได้นอกจากนี้การลงนามในแบบพิมพ์ที่ยื่นนั้น มาตรา 37 ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า ถ้ามีการมอบฉันทะให้ตัวแทนลงนามแทนจะต้องแสดงหนังสือมอบฉันทะเป็นหลักฐานด้วย เมื่อไม่มีหนังสือมอบฉันทะแสดง ย่อมมีผลเท่ากับจำเลยมิได้กระทำการแทนผู้ใด ยิ่งกว่านั้นจำเลยได้รับแจ้งการประเมินภาษีจากโจทก์แล้วยังยอมรับว่าค้างชำระค่าภาษีอยู่จริงจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินภาษี ต้องถือว่าการประเมินภาษีของโจทก์เป็นไปโดยถูกต้องชอบแล้ว ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระค่าภาษีต่อโจทก์ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความการประเมินตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 38 เมื่อฟังได้ว่าจำเลยกระทำไปในฐานะเป็นผู้รับประเมินเช่นนี้ จำเลยจึงเป็นบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีตามมาตรา 5 ฉะนั้น จำเลยจะปฏิเสธการชำระค่าภาษีต่อโจทก์หาได้ไม่ ทั้งจะผลักภาระการชำระค่าภาษีให้ไปตกแก่ภริยาจำเลยก็ไม่ได้ดุจกัน เพราะภริยาจำเลยไม่ใช่ผู้รับประเมินซึ่งมีหน้าที่ชำระค่าภาษีต่อโจทก์

ภริยาจำเลยได้รับการยกให้โรงเรือนพร้อมที่ดินโดยเสน่หาระหว่างจำเลยและภริยาจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากัน การได้ทรัพย์สินมาเช่นนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส จำเลยจะกล่าวอ้างเป็นอย่างอื่น เช่นว่าไม่ใช่สินสมรสแต่เป็นสินส่วนตัวของภริยาจำเลย จำเลยจำต้องยกขึ้นเป็นประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การโดยชัดแจ้ง มิฉะนั้นแล้วจำเลยก็ไม่มีประเด็นสืบ เมื่อฟังว่าที่ดินรวมทั้งโรงเรือนเป็นสินสมรสแล้วฐานะของจำเลยก็ย่อมเป็นเจ้าของร่วม ประกอบทั้งจำเลยเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ด้วย จะว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดค่าภาษีเพราะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินไปได้อย่างไร

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 40วางหลักว่า เจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้เสียค่าภาษี เท่ากับต้องรับภาระโดยตรงเพียงฝ่ายเดียว เจ้าของจะไปผลักภาระภาษีให้ผู้เช่าหรือผู้ครองทรัพย์สินเสียไม่ได้ มิใช่ข้อตัดสิทธิมิให้เทศบาลเรียกร้องเอาค่าภาษีจากจำเลยผู้รับประเมินแต่อย่างใดไม่

Share