คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2612/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ลงวันเดือนปีในเช็คตามเจตนาของผู้สั่งจ่ายที่ขอผัดไม่เป็นการปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007เพราะมิใช่แก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ลงในเช็คหากแต่เป็นการลงวันเดือนปีที่ถูกต้องแท้จริงโดยสุจริต ซึ่งเป็นอำนาจของโจทก์ผู้ทรงที่จะกระทำได้ตามมาตรา 910 วรรคห้า ไม่เป็นโมฆะ
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นทายาทและผู้รับมรดกของย. ผู้สั่งจ่ายเช็ค โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คพิพาทเมื่อใด และเมื่อโจทก์ทราบการตายของ ย.เมื่อต้นมิถุนายน 2514 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อ 9 พฤษภาคม 2515คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้รับมรดกของนายยีนจุ่น นายยีนจุ่นสั่งจ่ายเช็คเงินสดให้โจทก์จำเลยที่ ๒ เป็นผู้สลักหลังเช็คทางธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทและผู้รับมรดกของนายยีนจุ่น แซ่ลิ้ม ใช้เงิน๓๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายยีนจุ่นได้นำเช็คไปขอกู้เงินนายอุบลได้มอบเช็คซึ่งยังมิได้กรอกวันเดือน พ.ศ. ให้นายอุบลมีข้อตกลงให้นายยีนจุ่นชำระดอกเบี้ย ต่อมาประมาณ ๔ เดือนนายอุบลได้ขอให้จำเลยที่ ๒ ชำระดอกเบี้ยและให้จำเลยที่ ๒ เซ็นชื่อด้านหลังเช็คเป็นหลักฐาน หลังจากนั้นจำเลยที่ ๒ มิได้ชำระดอกเบี้ยให้นายอุบล โจทก์กรอกข้อความในเช็คว่า”๑๒ ส.ค. ๒๕๑๔” ภายหลังที่นายยีนจุ่นตายแล้ว เป็นการปลอมเช็ค และเป็นโมฆะ นายยีนจุ่นนำเช็คดังกล่าวไปประกันหนี้เงินกู้กับนายอุบล ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยมิได้กรอกวันเดือนปี มิได้เรียกร้องเงินตามเช็คนานหลายปีจึงขาดสิทธิเรียกร้อง ถ้าถือวันเดือนปีที่ปรากฏในเช็ค โจทก์ก็ขาดสิทธิเรียกร้องที่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาเกินกฎหมายกำหนด ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความมรดก และจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายยีนจุ่นไม่ได้เป็นหนี้และไม่ได้ออกเช็คชำระหนี้แก่โจทก์พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายยีนจุ่นใช้เงิน ๓๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่า ผู้ตายลงวันเดือนปีสั่งจ่ายแตกต่างกับที่นำสืบว่า โจทก์เป็นผู้ลงวันเดือนปีเอาเองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์กล่าวถึงวันเดือนปีในเช็คที่ผู้ตายสั่งจ่ายเท่านั้นมิได้กล่าวว่าผู้ตายได้ลงวันเดือนปีในเช็คนั้น ข้อเท็จจริงจึงไม่แตกต่างดังที่จำเลยฎีกา การที่โจทก์ลงวันเดือนปีภายหลังที่โจทก์ทราบว่านายยีนจุ่นตายแล้ว โจทก์เบิกความว่า ได้เคยทวงถามหนี้รายนี้จากนายยีนจุ่นเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๑ นายยีนจุ่นขอผัดไปราวกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๔ การที่โจทก์ลงวันเดือนปีเป็นวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๔ ตามเจตนาของนายยีนจุ่นผู้ตายที่ขอผัด ไม่เป็นการปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๐๗ กล่าวคือ มิใช่แก้ไขเปลี่ยนแปลงวันที่ลงในเช็ค หากแต่เป็นการลงวันเดือนปีที่ถูกต้องแท้จริงโดยสุจริต ซึ่งเป็นอำนาจของโจทก์ที่จะกระทำได้ตามมาตรา ๙๑๐ วรรค ๕ ไม่เป็นโมฆะดังที่จำเลยฎีกา
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ได้ลงชื่อสลักหลังเช็คฉบับพิพาทเมื่อใดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในฐานะเป็นทายาทและเป็นผู้รับมรดกของนายยีนจุ่นผู้ตาย โจทก์ไม่จำต้องนำสืบในข้อนี้ และคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ เพราะโจทก์เพิ่งทราบการตายของนายยีนจุ่น เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๑๔ และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๙พฤษภาคม ๒๕๑๕
พิพากษายืน

Share