คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2335/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจำนำที่ดินที่ได้ทำกันก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ต้องบังคับตามกฎหมายที่มีอยู่ก่อน ได้แก่ พระราชบัญญัติการขายฝากและจำนำที่ดิน ร.ศ.115 และโดยเฉพาะประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ.118 ซึ่งให้ดูกิริยาที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันว่าเป็นจำนำหรือขายฝาก แม้ในสัญญาจะมีข้อความเป็นอย่างอื่นก็ต้องถือตามกิริยาที่ประพฤติต่อกันตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1044/2492
บิดาโจทก์ได้ตกลงกับผู้รับจำนำมอบที่พิพาทให้ไว้เอาค่าเช่าหักชำระดอกเบี้ยและค่าภาษีแล้ว บิดาโจทก์ได้อพยพไปอยู่ที่อื่นและเคยมาคิดเงินกับผู้รับจำนำเป็นบางปี บิดาโจทก์ตายไปประมาณ 30 ปีแล้ว ก่อนตายไม่เคยพูดขอไถ่จำนำเลย แสดงว่าบิดาโจทก์ได้มอบที่พิพาทให้ผู้รับจำนำทำกินต่างดอกเบี้ยมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว การปฏิบัติของคู่สัญญาเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการขายฝาก ซึ่งประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ.118 ข้อ 6 มีข้อความว่า ในการขายฝากที่ดิน ถ้ามีข้อสัญญาจะให้ไถ่ได้เกินกว่า 10 ปีไป อย่าให้วินิจฉัยว่าไถ่ได้เมื่อพ้น10 ปีไปเลยเมื่อบิดาโจทก์ได้จำนำที่พิพาทไว้ตั้งแต่ปี 2460 และได้มอบที่พิพาทให้ผู้รับจำนำทำกินต่างดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2473 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีไปมากแล้ว ที่พิพาทจึงหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับซื้อฝาก โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิไถ่ถอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทุกคนเป็นบุตรนายมานหรือหะยีมาน และนางเอี่ยมซึ่งถึงแก่กรรมไปนานแล้ว เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๔๕๐ นายมานเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๖๐ นายมานได้จำนำนายปุ๋ยไว้เป็นเงิน ๒๔๐ บาท นายปุ๋ยตาย นางเน้ย ทายาทได้จดทะเบียนแปลงหนี้จากจำนำมาเป็นจำนองและได้รับโอนมรดกเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๗๓ ต่อมาได้มีการโอนหนี้จำนองไปยังบุคคลอื่นอีกหลายคนจนเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๐๙ จำเลยรับโอนมาเป็นผู้รับจำนองเป็นคนสุดท้าย เมื่อครั้งนายมานยังมีชีวิตอยู่ได้เคยพูดขอไถ่หนี้จำนำจากผู้รับจำนำ แต่ผู้รับจำนำได้ผัดผ่อนตลอดมา ส่วนโจทก์ได้ขอไถ่หนี้จำนองจากผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองรวมทั้งจำเลยต่างผัดผ่อนเรื่อยมาจึงขอให้บังคับจำเลยรับเงิน ๒๔๐ บาทจากโจทก์เป็นค่าไถ่ถอนหนี้จำนองถ้าไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการและต่อสู้ว่านายมานหมดสิทธิไถ่คืนแล้ว เพราะได้จำนำก่อนใช้ ป.พ.พ. บรรพ ๓ ต้องปรับตามกฎหมายเก่าตามพฤติการณ์ถือว่าเป็นการขายฝาก ข้อสัญญาจะมีกำหนดให้ไถ่คืนหรือไม่ก็ตาม เมื่อเกิน ๑๐ ปีแล้วไถ่คืนไม่ได้ นางเน้ยรับมรดกนายปุ๋ยเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๗๓ แสดงว่านายมานได้ปล่อยให้นายปุ๋ยครอบครองมาถึง ๑๓ ปี ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายปุ๋ยแล้ว นางเน้ยจึงได้กรรมสิทธิ์ คดีของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยได้ซื้อที่ดินแปลงนี้ต่อมา และได้ครอบครองโดยสุจริตเปิดเผย และเสียค่าตอบแทนเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้วจึงได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นฟังว่าบิดาโจทก์ได้จำนำที่ดินไว้กับนายปุ๋ยก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และได้มอบให้ผู้รับจำนำทำกินต่างดอกเบี้ยต้องบังคับตามประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ. ๑๑๕ ซึ่งตามพฤติการณ์ถือเป็นการขายฝาก เมื่อเกิน ๑๐ ปีแล้วไม่มีสิทธิไถ่คืน พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจำนำที่พิพาทนี้ได้ทำกันเมื่อปี ๒๔๖๐ อันเป็นเวลาก่อนประกาศใช้ ป.พ.พ. บรรพ ๓ กรณีจึงต้องบังคับตามกฎหมายที่มีอยู่ก่อน ได้แก่ พ.ร.บ.การขายฝากและจำนำที่ดิน ร.ศ. ๑๑๕ และโดยเฉพาะประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ. ๑๑๕ ซึ่งให้ดูกิริยาที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันว่าเป็นจำนำหรือขายฝาก แม้ในสัญญาจะมีข้อความเป็นอย่างอื่นก็ต้องถือตามกิริยาที่ประพฤติต่อกันตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๔๔/๒๔๙๒
กรณีได้ความว่า บิดาโจทก์ได้ตกลงกับผู้รับจำนำมอบที่พิพาทให้ไว้เอาค่าเช่าหักชำระดอกเบี้ย และค่าภาษี บิดาโจทก์เคยคิดเงินกับผู้รับจำนำเป็นบางปี บิดาโจทก์ตายไปประมาณ ๓๐ ปีแล้ว ก่อนตายไม่เคยพูดขอไถ่จำนำเลย แสดงว่าบิดาโจทก์ได้มอบที่พิพาทให้ผู้รับจำนำทำกินต่างดอกเบี้ยมาเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว การปฏิบัติของคู่สัญญาเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการขายฝาก ซึ่งประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ.๑๑๘ ข้อ ๖ มีข้อความว่า ในการขายฝากที่ดิน ถ้ามีข้อสัญญาจะให้ไถ่ได้เกินกว่า ๑๐ ปีไป อย่าให้วินิจฉัยว่าไถ่ได้เมื่อพ้น ๑๐ ปีไปเลย เมื่อบิดาโจทก์ได้จำนำที่พิพาทไว้ตั้งแต่ปี ๒๔๖๐ และได้มอบที่พิพาทให้ผู้รับจำนำทำกินต่างดอกเบี้ยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ เป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปีไปมากแล้ว ที่พิพาทจึงหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับซื้อฝาก โจทก์จึงไม่มีสิทธิไถ่ถอน
พิพากษายืน

Share